โควิด กระทบ MPI เม.ย. หดตัว 17.21 %
สศอ. เผยผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ MPI เดือนเมษายน 2563 หดตัวร้อยละ 17.21 เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวและโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนมีการหยุดการผลิตชั่วคราว
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.21 โดยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวและโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งต้องหยุดการผลิตชั่วคราว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายนมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 12.64 เป็นต้น ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมเดือนเมษายนอยู่ที่ร้อยละ 51.87
อย่างไรก็ตาม จากการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศให้สามารถส่งสินค้าได้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 0.5 กลับขึ้นมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารสัตว์ที่ได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและสหรัฐฯ
โดยถ้าหักอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและหดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 36.0 จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.2 เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38.52 นับเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2 หลักติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตาดูใน 3 ปัจจัยหลัก คือ การปลดล็อคทางเศรษฐกิจว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการเต็มที่ได้เมื่อไหร่ การควบคุมโรคของประเทศคู่ค้า และรายได้และการออมที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็วแค่ไหน โดยในเดือนพฤษภาคมประเทศไทยมีการควบคุมการระบาดได้ดี
ส่งผลให้รัฐบาลเริ่มมาตรการปลดล็อคกิจกรรมและกิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการ ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมและในภาคอุตสาหกรรมอย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับแผนการผลิตให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในสภาวะชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)