“รักษ์พงษ์” ต่อจิ๊กซอว์ใหม่ๆ สร้างเศรษฐีกองทุนเงินล้าน
“รักษ์พงษ์” เดินเกมสร้าง “จิ๊กซอว์ใหม่” ใช้เป็น “ตัวช่วยพิเศษ” ล่าสุด! เตรียมดึง “บขส.และ สศอ.” ร่วมทีมฯ หลังก่อนหน้านี้ ดึง “สสว.” ช่วยยกระดับการผลิต คุณภาพสินค้า และการตลาดให้กับกองทุนหมุ่บ้านฯไปแล้ว เผย! กิจกรรม “ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า” สุดคึกคัก! สร้างทั้งหลักประกันด้านอาหารให้กับสมาชิกกองทุนฯ แถมหากเครือข่ายฯร่วมด้วยช่วยกัน “เฮโล” ซื้อสินค้า มีหวังสร้าง “เศรษฐีกองทุนเงินล้าน” หน้าใหม่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
โชคดีที่วันนี้…สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) ราว 12.9 ล้านคน จากกว่า 7.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในมิติต่างๆ เป็นอย่างดีจากภาครัฐ นำสู่ปลายทางคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า…อย่างยั่งยืน จาก สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) ทั้งด้านเงินทุน องค์ความรู้ การผลิต การตลาด การสร้างเครือข่าย และกิจกรรมที่ก่อประโยชน์ ทั้งต่อสมาชิกฯ ต่อกองทุน ต่อชุมชนท้องถิ่น ต่อระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ
โดยเฉพาะการมองหา “โอกาสใหม่ๆ” ที่มีให้กันแบบไม่รู้จบ!
กับ เป้าหมายสูงสุด! ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง วาดหวังจะได้เห็นในเร็ววัน นั่นก็คือ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน มีงานทำ มีรายได้ ขณะที่ รายจ่ายลดลงจากกิจกรรมพิเศษ “ซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า” ทั้งภายในและระหว่างกองทุนหมู่บ้านฯ ด้วยกันเอง
มากกว่านั้น…ยุคของ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ. สทบ. ดูเหมือนว่า…สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จะมี “ตัวช่วยพิเศษ” เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS เคยเขียนถึง “พันธมิตรใหม่” อย่าง…สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่จะมาเป็น “จิ๊กซอว์แห่งความสำเร็จ” อันดับต้นๆ และมาเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหาย….สำหรับกองทุนหมู่บ้านฯส่วนใหญ่
ในธีม “พวกเรา (สบท.และกองทุนหมู่บ้านฯ) จะไม่เดิน…อย่างเดียวดาย” (We’ll Never Walk Alone)
ไม่ว่าจะเป็นการ…ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพการผลิต ในลักษณะ “กึ่งอุตสาหกรรม” ไปจนถึงการมองหาตลาดใหม่ๆ ให้กับกองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศ
ไม่ทันที่ “พันธมิตรชั้นดี” อย่าง สสว. ภายใต้การนำของ ผู้บริหารหนุ่ม “ป้ายแดง” เช่น…นายวีระพงศ์ มาลัย จะลงนามเซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน ทว่า สทบ.ภายใต้การนำของ นายรักษ์พงษ์ กลับเดินหน้า…มองหา “จิ๊กซอว์ตัวใหม่” มาเป็น “ตัวช่วยพิเศษ” ให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เท่าที่ทราบ….วันที่ 29 พฤษภาคมนี้ สทบ. จะมีภารกิจสำคัญ บนความร่วมมือกับสํานักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มากด้วยองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นำมาซึ่งฐานข้อมูลที่สำคัญต่อการกำหนดแนวทางพัฒนาให้กับกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ต้องการยกระดับตัวเองไปสู่ภาคการผลิตกึ่งอุตสาหกรรมและการแปรรูปสินค้า
และในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ซึ่ง นายรักษ์พงษ์ นำคณะฯไปให้กำลังใจและร่วมเป็นสักขีพยาน โดยตัวเขาทำหน้าที่ประธานในโครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนสินค้าสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จาก จ.นครนายก จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สมุทรปราการ ณ ศาลาเอนกประสงค์ กองทุนหมู่บ้านวังปลาไหล หมู่ที่ 6 ต.บ้านพร้าว อ.บ้านนา จ.นครนายก
หนึ่งในนั้น…ก็มีหนึ่ง “เซอร์ไพร้ส์” นำมาซึ่ง “ตัวช่วยพิเศษ” อีกหนึ่งองค์กร นั่นคือ บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) ที่จะมาเติมเต็มในการทำหน้าที่…ตัวกลางขนส่งสินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้านฯ
ทุกวันนี้…การเจรจา และ/หรือ ทำสัญญาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า แม้กระทั่ง การชำระค่าสินค้าระหว่างกัน ทำได้ง่าย…เพียงปลายนิ้วสัมผัส ผ่านสมาร์ทโฟน และระบบ อี-แบงก์กิ้ง (อี-เพย์เม้นท์)
เรื่องนี้…ถึงคนรุ่นเก่าอาจไม่เชี่ยวชาญพอ แต่กับลูกหลานและคนรุ่นใหม่ พวกเขาสามารถจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ ยกเว้น! การขนส่งสินค้าระหว่างกัน
หากกองทุนหมู่บ้านฯหนึ่ง ต้องบรรทุกสินค้าของตัวเอง ไปทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าของอีกกองทุนหมู่บ้านฯ ต่อให้ระยะทางไม่ไกลนัก แต่นั่น…ก็คือต้นทุนที่แพงขึ้น หากระยะยาวแล้ว จะทำให้โครงการในลักษณะนี้ มีปัญหาตามมา และอาจจะ “ปิดฉากเร็วกว่าที่คิด” เพราะไม่อาจแบกรับภาระด้านการขนส่งได้
เมื่อ นายรักษ์พงษ์ ดึงเอา พล.ต.สุรพล ตาปนานนท์ ประธานกรรมการ บขส. มาร่วมงานที่ จ.นครนายก นั่นจึงเป็นสัญญาณที่ดีตามมา ต่อการจะ “สลายปัญหา” ด้านการขนส่งสินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้านฯ ในพื้นที่ห่างไกล
พล.ต.สุรพล บอกกับ เว็บไซต์ข่าว AEC10NEWS ว่า…คนส่วนใหญ่มักคิดว่า บขส.ขนแค่คน แต่ความเป็นจริง บขส.มีบริการรับ-ส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ที่ผู้ส่งฯ…ซึ่งส่วนมากเป็นเกษตรและชาวบ้าน มักจะบรรจุสินค้าเหล่านั้นลงในบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทรับส่งสินค้าทั่วไปอาจไม่รับฯ หรือให้บริการ แต่กับ บขส.แล้ว เรารับส่งสินค้าให้แบบไม่เลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ ปกติการขนส่งสินค้าผ่าน บสข. “ส่งเช้าถึงเย็น และส่งเย็น (วันนี้) ถึงเช้า (พรุ่งนี้)” ทำให้สินค้าที่ฝากส่งมากับ บขส. ไม่มีปัญหาเรื่องสินค้าเน่าเสีย เพราะเราใช้เวลาไม่มากในการขนส่ง
สำหรับอัตราค่าบริการนั้น ปกติ บขส.ก็คิดราคาถูกกว่า “เมื่อเทียบน้ำหนักและขนาด” กับผู้บริการรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ที่เปิดให้บริการมากหน้าหลายตา อย่างไรก็ตาม หาก 2 หน่วยงาน คือ…สบท.และ บขส. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ก็มีโอกาสที่ บขส.จะคิดค่าบริการกับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ต่ำกว่าราคาปกติ และคาดว่าในเวลาอันใกล้นี้ นายรักษ์พงษ์ คงจะเข้ามาเจรจาและทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
“ปกติแต่ละเที่ยวของการเดินทางนั้น รถ บขส.แต่ละคันสามารถจะบรรทุกสิ่งของได้มากถึง 500 – 1,000 ก.ก. ขึ้นกับขนาดของสิ่งของนั้นๆ ซึ่งนั่นจะช่วยแก้ไขปัญหากรณีที่ต้องส่งสินค้าในปริมาณที่มาก และในราคาประหยัดได้ ส่วนตัวผมมองว่า แนวทางที่ นายรักษ์พงษ์ และกองทุนหมู่บ้านฯต่างๆ ทำ โดยซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันเองนั้น เป็นเรื่องที่ดี และทำให้สินค้าที่ผลิตไม่ได้ในท้องถิ่น สามารถจะนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ในท้องถิ่นของตัวเอง และยังส่งออกไปจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนกับกองทุนหมู่บ้านฯในพื้นที่ห่างไกลได้ และ บขส.ก็พร้อมจะทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเต็มที่” ประธานกรรมการ บขส. ย้ำ
ประเด็นเดียวกัน นายรักษ์พงษ์ ยืนยันว่า…สทบ.จะเร่งดำเนินการทำข้อตกลงความร่วมมือกับ บขส.โดยเร็วที่สุด ซึ่งการเรียนเชิญให้ ประธานกรรมการ บขส. มาร่วมงานนี้ ก็เพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้น นั่นเอง
สำหรับโครงการความร่วมมือแลกเปลี่ยนสินค้า (MOU) สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ จาก จ.นครนายก จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สมุทรปราการ นั้น เกิดขึ้นจากโครงการความร่วมมือที่ต้องการจะเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ตามนโยบายของ นายสมคิด ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ควบคู่ไปกับการลดภาระรายจ่าย และการสร้างงานในท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากการที่ สทบ. ได้เร่งดำเนินการในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่า สิ่งนี้…ได้สร้างปรากฏการณ์ความตื่นตัวให้กับสมาชิกฯทั่วประเทศมากถึง 13 ล้านคน นอกจากนี้ สินค้าที่ถูกนำมาใช้เพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเอง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องอาหาร และเป็นสิ่งของจำเป็นที่ต้องมีติดครัวในทุกบ้าน ไม่ว่าจะเป็น…ข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ ปลาเค็ม ฯลฯ
สิ่งนี้เหล่านี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของ “การสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหาร” ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศและครอบครัวรวมกัน 40 ล้านคน
“การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในกลุ่มอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องกินต้องใช้กันอยู่แล้ว ไม่เพียงช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งๆ ขึ้นแล้ว แต่สิ่งนี้ยังจะเป็นหลักประกันชั้นดีกว่า…ครอบครัวของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯทุกแห่ง จะมีอาหารกินแบบไม่มีขัดสน เพราะแม้สินค้าบางตัวเราจะผลิตเองไม่ได้ แต่เราสามารถจะซื้อหาหรือแลกเปลี่ยนกับกองทุนอื่นๆ ที่เขามีสินค้าที่เราต้องการได้ และกลายเป็นว่า…การดำเนินการในลักษณะนี้ เป็นมากกว่าการทำให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนในระดับรากหญ้าเกิดความตื่นตัวและกลายเป็นความเข็งแข็ง เพราะสามารถจะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารให้กับพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯและคนในครอบครัว” ผอ.สทบ. ระบุและว่า
นอกจากการทำ MOU แล้ว ทั้ง 3 จังหวัดได้มีการนำผลิตผลทางการเกษตรมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน อาทิ ข้าวสารจาก จ.นครนายก ไข่ไก่จาก จ.ฉะเชิงเทรา และปลาสลิดจาก จ.สมุทรปราการ เป็นมูลค่ากว่า 2.5 แสนบาท อีกทั้งยังมีการจัดบูธของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกว่า 20 กองทุน เพื่อแสดงผลผลิตทางการเกษตรและแนะนำสินค้าในชุมชนเพื่อเป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้า สามารถสร้างกลไกเชื่อมโยงขยายไปยังภูมิภาคและทั่วประทศอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากต่อไป
ไม่เพียงแค่นั้น นายรักษ์พงษ์ ยังมองไปไกลถึงขนาดที่ว่า…แค่สินค้าเพียงตัวเดียว เช่น ข้าวสารบรรจุถุง หากพี่น้องเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯทั่วประเทศ ช่วยกันอุดหนุนคนละถุงๆ ละ 35 บาท นั่นก็หมายความว่า…กองทุนหมู่บ้านฯที่ผลิตและจำหน่ายข้าวรายนั้น จะมีรายได้สูงถึง 35 ล้านบาท และหากแนวคิดการช่วยกันอุดหนุนสินค้ากันเอง ขยายวงกว้างออกไปยังสินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น อาหารแห้ง สินค้าแปรรูป รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นอื่นๆ ที่ทุกครอบครัวจะต้องมีติดบ้าน
โอกาสจะสร้าง “เศรษฐีกองทุนเงินล้าน” ภายในกองทุนหมู่บ้านฯ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่พี่น้องร่วมเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ จะต้องช่วยเหลือกันอย่างเข้มแข็งและจริงจัง โดยเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ หรือพ่อค้าคนกลาง มาเป็นซื้อขายกันเองในสิ่งที่เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯมี
“วันนี้คุณช่วยเขา วันหน้าเขาช่วยคุณ หากพวกเราร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจังแล้ว โอกาสจะสร้าง…เศรษฐีกองทุนเงินล้าน ก็มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว” ผอ.สทบ. ย้ำ.