สั่งยกเครื่องไอแบงก์ ขยายสาขาที่ใต้ หนุนฐานราก
“สันติ” มอบนโยบายไอแบงก์ปรับบทบาทใหม่พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างอาชีพ ชาวมุสลิม สั่งขยายสาขาภาคใต้ให้ครบทุกอำเภอ เชื่อภารกิจใหม่ทำให้ธนาคารเข้มแข็ง และช่วยดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเสริมความแกร่ง โชว์กำไรไตรมาสแรกปี 2563 กว่า 63 ล้านบาท ด้าน “เอ็มดี.วุฒิชัย” ประกาศร่วมทีมเราไม่ทิ้งกัน เผย! ที่ผ่านมา คลอดมาตรการผ่อนปรนชำระหนี้และเสริมสภาพคล่องช่วยผู้ประกอบการสู้โควิดฯแล้ว 7 มาตรการ
วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังมอบนโยบายผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยย้ำให้ธนาคารฯ ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนชาวไทยมุสลิม เร่งดำเนินงานนอกเหนือจากการรับฝากเงิน และการปล่อยสินเชื่อแล้ว โดยต้องเข้าไปช่วยยกระดับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กับชุมชนมุสลิม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องปรับบทบาทใหม่เพื่อให้ชาวมุสลิมสามารถเข้าถึงการบริการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารฯมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยจะต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ชาวมุสลิมมีความมั่นคงในชีวิต ปล่อยสินเชื่อในทุกเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล ส่งเสริมฮาลาลในกลุ่ม SMEs รายย่อย เพื่อสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานเติบโตและพัฒนามากขึ้น ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชาวมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐตามบทบาทและภารกิจใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้กับชาวมุสลิม ไอแบงก์ยังสามารถร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาอาชีพ เช่น ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช พัฒนาวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนเยาวชนอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถรวมกลุ่มประกอบอาชีพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้ รวมทั้งไอแบงก์ยังสามารถปล่อยสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชน ในการนำไปต่อยอดทางธุรกิจ หรือ เป็นเงินทุนหมุนเวียน ผ่านการร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะชาวมุสลิม ที่ถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สิ่งที่ฝากให้ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไปเร่งดำเนินการ คือ เพิ่มสาขาในภาคใต้ที่ยังมีน้อย ขณะนี้มีสาขาในภาคใต้อยู่เพียง 40 สาขา จากทั่วประเทศ 100 สาขา ดังนั้น ควรขยายสาขาในภาคใต้ให้ครบทุกอำเภอ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่อาศัยภาคใต้จำนวนมาก ตามนโยบายและภารกิจที่ตั้งไว้ โดยเชื่อว่าหากทำได้ตามนโยบายที่วางไว้จะทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศและประเทศในตะวันออกกลาง และในอีกหลายประเทศที่อยากช่วยชาวมุสลิมมาร่วมลงทุนกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ช่วยทำให้ธนาคารเข้มแข็งขึ้น จะได้ไม่ต้องพึ่งพาการเพิ่มทุนจากรัฐบาลในอนาคต
“มอบให้ผู้บริหารธนาคารไปจัดทำแผนงาน ทั้งในเรื่องการเพิ่มสาขา เพิ่มสัดส่วนการให้บริการชาวมุสลิม การพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ถ้าขาดเหลืออะไร กระทรวงการคลังพร้อมสนับสนุน โดยเน้นย้ำไปว่าไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ในเรื่องการทำกำไร แม้ว่าการช่วยเหลือประชาชนจะทำให้ธนาคารกำไรลดลงแต่ไม่เป็นไร เพราะถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ” นายสันติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากไปดูโครงสร้างสินเชื่อและเงินฝาก ยังมีสัดส่วนของลูกค้าชาวมุสลิมน้อยมาก โดยใน เดือนมีนาคม สินเชื่อกว่า 54,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ลูกค้ารายใหญ่จำนวน 27,174 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 19 ลูกค้า SMEs จำนวน 7,825 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 14 และลูกค้า Retail จำนวน 19,930 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 37 เมื่อแบ่งสัดส่วนลูกค้าสินเชื่อทั้งหมดจำนวน 37,844 ราย พบว่า เป็นลูกค้ามุสลิมจำนวน 12,215 รายสัดส่วนร้อยละ 32 และส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าไม่ใช่ชาวมุสลิมจำนวน 25,629 ราย สัดส่วนร้อยละ 68
สำหรับเงินฝากส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ร้อยละ 46 วงเงิน 36,686 ล้านบาท ลูกค้ารายกลางร้อยละ 21 วงเงิน 1,600 ล้านบาท และลูกค้าย่อยร้อยละ 33 วงเงิน 26,364 ล้านบาท โดยธนาคารมีลูกค้าเงินฝากประมาณ 890,000 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 เป็นลูกค้าที่เป็นมุสลิม หรือประมาณ 513,089 ราย และเป็นลูกค้าไม่ใช่มุสลิมร้อยละ 42 หรือ 376,740 ราย
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารอิสลามฯ โดย นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กก.และผจก. ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าว “การดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 ของกระทรวงการคลัง” โดยที่ผ่านมา ธนาคารฯได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 มาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้มาตรการช่วยเหลือจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยครอบคลุมทั้งลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ แบ่งออกเป็น มาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ และ มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวม 7 โครงการแล้วดังนี้
มาตรการการผ่อนปรนการชำระหนี้ :
• มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยชั้นดี เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีคุณภาพประเภทสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจรวมทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เป็นลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPFของธนาคาร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยลดภาระผ่อนชำระค่างวดระยะสั้นไม่เกิน 3 เดือน
• มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน อัตโนมัติ ช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อ ไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยธนาคารจะดำเนินการปรับให้อัตโนมัติ ลูกค้าไม่ต้องติดต่อใดๆ กับธนาคาร ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าและจะไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต
• มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ปี 2563 เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้เดิมที่มีศักยภาพซึ่งได้รับผลกระทบจากสถาณการณ์เศรษฐกิจ ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและชำระเฉพาะกำไร ระยะเวลา 6 – 12 เดือน และขยายระยะเวลาสินเชื่อออกไปตามระยะเวลาที่พักชำระหนี้โดยกำหนดอัตรากำไรเดิม พร้อมให้ความช่วยเหลืออื่นๆเพิ่มเติมตามความรุนแรงของปัญหา เป็นรายกรณี
มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง :
• โครงการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนมาตรการ Soft Loan 2% ต่อปี เป็นการให้สินเชื่อใหม่กับลูกค้าเดิมของธนาคารที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับประกอบธุรกิจ ในรูปแบบ Term Financing และ Revolve Financing ระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 2 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 คิดอัตรากำไร 2%ต่อปี นาน 2 ปี พร้อมฟรี! กำไร 6 เดือนแรก กรณี Term Financing ปลอดชำระเงินต้นได้นานสูงสุด 12 เดือน ซึ่งลูกค้าสามารถใช้หลักประกันเดิมและไม่ต้องประเมินใหม่
• สินเชื่อมุสลิมและสินเชื่อสนับสนุนชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นมุสลิมและพี่น้องชายแดนใต้ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท
• โครงการสินเชื่อเสริมสร้างธุรกิจรายย่อยมุสลิม เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจมุสลิมรายย่อย วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท
• โครงการสินเชื่อมุสลิมรายย่อยสู้ภัยโควิด เพื่อช่วยเหลือลูกค้ามุสลิมรายย่อยสำหรับไปสร้างหรือฟื้นฟูอาชีพ วงเงินต่อรายไม่เกิน 30,000 บาท ผ่อนชำระเดือนละเพียง 390 บาท หรือ วันละ 13 บาทต่อวงเงิน 10,000 บาท เท่านั้น.