บก.สรุป 16 แนวปฏิบัติขับเคลื่อนงานรัฐสู้โควิดฯ
กรมบัญชีกลาง (บก.) แถลงผลการดำเนินงาน เผยได้กำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติรวม 16 ข้อ หวังดันภารรัฐได้มีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ รวมภาคเอกชนที่รับดำเนินงานต่อ
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลภารกิจด้านกฎ ระเบียบ การเงินการคลังภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงการคลัง มีความห่วงใยทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤติข้างต้น ได้อนุมัติ กำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติ ดังนี้
1.การอนุมัติหลักการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายกรณียกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางไปราชการ การจัดฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมระหว่างประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ได้อนุมัติหลักการให้ส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนี้
1.1. กรณียกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางไปราชการ
1.2 กรณียกเลิกหรือเลื่อนการจัดฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ หรือการเข้ารับการฝึกอบรม การเข้าร่วมงาน การเข้าร่วมการประชุมต่างๆ
ซึ่งการเบิกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นข้างต้น จะต้องได้รับอนุมัติให้ยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางไปราชการ การจัดฝึกอบรม การจัดงาน และการจัดประชุมระหว่างประเทศ จากหัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณหรือหัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดก่อนแล้วแต่กรณี จึงจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ ซึ่งสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็น เหมาะสม และประหยัด
2.แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการลาของลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว ในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวมีแนวทางเช่นเดียวกันกับข้าราชการ ตามหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0106/ว 316 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ดังนี้
ให้ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือสัมผัสโรคหรือใกล้ชิดผู้ป่วยดังกล่าว หากปรากฏผลการคัดกรองยืนยันว่า มีภาวะเสี่ยงหรือติดเชื้อโรคหรือถูกแยกกักหรือกักกันตัว จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถมาปฏิบัติราชการ ณ สถานที่ตั้งตามปกติให้รีบรายงานพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงหรือหัวหน้าส่วนราชการโดยทันที โดยให้ถือว่าลูกจ้างฯ ไม่สามารถมาปฏิบัติราชการอันเนื่องมาจากพฤติการณ์พิเศษ และให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้การหยุดราชการโดยไม่นับเป็นวันลาตามจำนวนวันที่ไม่มาปฏิบัติราชการได้ แต่หากพฤติการณ์ของลูกจ้างฯ เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือความผิดของลูกจ้างฯ ให้ถือว่าวันที่ไม่ได้มาปฏิบัติราชการนั้นเป็นวันลากิจส่วนตัว
3.การอนุมัติหลักการเบิกจ่ายค่าตอบแทนในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การเบิกจ่ายค่าตอบแทนในการประชุมกรณีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีความซัดเจนและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงอนุมัติในหลักการให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานของส่วนราชการที่ได้รับค่าตอบแทนในการประชุม ให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามอัตราที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติไว้ ทั้งนี้ วิธีปฏิบัติในการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และคู่มือการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ ที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด
4.ซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติการบริหารสัญญาในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการเดินทางไปศึกษา ดูงาน ฝึกอบรม หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตาม ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผลกระทบจากกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลต่อภาคเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐน้อยที่สุด ตลอดจนให้หน่วยงานของรัฐมีแนวทางการพิจารณาในการบริหารสัญญากรณีที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ดังนี้
4.1 กรณีที่หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเหมาบริการศึกษาดูงาน ซึ่งกำหนดเนื้องานเฉพาะเรื่องการศึกษาดูงานเท่านั้น และไม่มีความประสงค์จะจัดให้มีการเดินทางไปศึกษา ดูงาน ฝึกอบรม หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และประเทศเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ให้หน่วยงานดำเนินการเจรจาตกลงยกเลิกกับคู่สัญญา เพื่อที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงตามนัยมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 คือ การตกลงกับคู่สัญญาที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาได้เฉพาะในกรณีที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐโดยตรงหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของหน่วยงานรัฐในการที่จะปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงนั้นต่อไป
4.2 กรณีที่หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเหมาบริการโดยกำหนดเนื้องานหลายกิจกรรม ซึ่งการศึกษาดูงานเป็นกิจกรรมหนึ่งในการจ้างเหมาบริการตามสัญญา และหน่วยงานมีความประสงค์จะเลื่อนหรือยกเลิกกิจกรรมหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการแก้ไขสัญญาตามนัยมาตรา 97 วรรคหนึ่ง
4.3 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 คือ เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ
5.กรมบัญชีกลางอนุมัติเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุมและค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อนุมัติให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะยุติ ดังนี้
5.1 ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และสัตวแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลเทศบาลและท้องถิ่น ผลัดละ 1,500 บาทต่อคน ส่วนพยาบาล นักวิชาการด้านการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาล เทศบาลและท้องถิ่น ได้รับค่าตอบแทนผลัดละ 1,000 บาทต่อคน โดยการปฏิบัติงานต้องมีลักษณะเป็นเวรเป็นผลัด ๆ ละ ไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง
5.2 ค่าตอบแทนในการประชุมครั้งละ 1,000 บาทต่อคน สำหรับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข
5.3 ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยยืนยัน และผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) โดยคนต่างชาติที่ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล ให้เบิกตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง สำหรับคนต่างชาติและคนไทยที่มีสิทธิเบิกสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว ให้เบิกได้เฉพาะในส่วนที่เกินจากสิทธิ
6.กรมบัญชีกลางเพิ่มรายการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่เสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และกำหนดอัตราการเบิกค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ห้องควบคุมค่ายา และค่าอุปกรณ์ป้องกันให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน และขานรับมาตรการ Social Distancing โดยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรับยาที่สถานพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่ม ให้ผู้มีสิทธิสามารถเบิกจ่ายตรงได้ โดยไม่ต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน และกรมบัญชีกลางได้สนับสนุนมาตรการ Social Distancing ของรัฐบาล โดยให้ผู้ป่วยเก่าของสถานพยาบาลสามารถรับยาที่บ้านได้ ลดความเสี่ยงในการเดินทางมายังสถานพยาบาลในช่วงที่เกิดการระบาดของโรค
7. กรมบัญชีกลาง เพิ่มเติมหลักเกณฑ์และอัตราเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล กรณี COVID-19 เพื่อความคล่องตัวของสถานพยาบาลและเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วย จากกรณีที่มีสถานพยาบาลของทางราชการหลายแห่งมีสถานที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาพยาบาลและได้จัดหาสถานที่อื่น ๆ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เพื่อส่งตัวผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่อาการดีขึ้นไปพักฟื้นในสถานที่ดังกล่าว จนกว่าจะกลับสู่สภาวะปกติและสามารถกลับบ้านได้ ดังนี้
7.1ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากแพทย์ผู้รักษาเห็นว่า อาการดีขึ้นสามารถส่งตัวไปพักฟื้น ณ สถานที่ที่สถานพยาบาลของทางราชการได้จัดหาไว้เป็นการเฉพาะ เช่น สถานพยาบาลสนาม หอผู้ป่วย COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น มีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน และในกรณีที่สถานพยาบาลของทางราชการมีความจำเป็นต้องส่งตัวผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้มีสิทธิมีสิทธิได้รับเงินสวัสดิการนอกเหนือจากค่าพาหนะส่งต่อ รายการค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal..Protective Equipment)และค่าบริการทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,700 บาท ต่อครั้งที่มีการส่งต่อ
7.2 การจัดส่งยาให้ผู้ป่วยโดยตรง ทางไปรษณีย์ หรือจัดส่งยาไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิหรือสถานที่ที่สถานพยาบาลของทางราชการได้จัดเตรียมไว้ และเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ส่งมอบยาให้ผู้ป่วย
7.3 หากผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวไปแสดงตน ณ สถานพยาบาลของทางราชการ การทำธุรกรรมผ่านเครื่องรับรายการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) อาจใช้บัตรประจำตัวประชาชนหรือใช้เลขประจำตัวประชาชนได้
8.กรมบัญชีกลางปลดล็อคแนวทางการจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปด้วยความคล่องตัว รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ สามารถช่วยชีวิตของประชาชนได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน หากดำเนินการล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะและระบบเศรษฐกิจโดยรวมดังนี้
8.1 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด 19 ในแต่ละครั้ง ทุกวงเงิน ถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง
8.2 การดำเนินการตามข้อ 1 หากมีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ให้จ่ายได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างกำหนด และยกเว้นการวางหลักประกันการรับเงินล่วงหน้า โดยแนวทางดังกล่าวให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
9.การต่ออายุรับรองมาตรฐานการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019เป็นอุปสรรคต่อการตรวจเยี่ยมหน่วยไตเทียมเพื่อรับรองการต่ออายุการรับรองมาตรฐานให้แก่สถานพยาบาลของคณะอนุกรรมการตรวจรับรองมาตรฐานการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (ตรต.) ซึ่งตามหลักเกณฑ์เดิม หากสถานพยาบาลไม่ส่งใบรับรองการต่ออายุที่ออกให้โดย ตรต. จะชะลอการการจ่ายค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรัง ทั้งนี้ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คงระดับมาตรฐานตามเกณฑ์ของ ตรต. และสามารถส่งเบิกจ่ายตรงการรักษาทดแทนโรคไตเรื้อรังประเภทฟอกเลือด (HD) ได้อย่างต่อเนื่อง กรมบัญชีกลางจึงได้กำหนดแนวทางให้สถานพยาบาลที่ใบรับรองการต่ออายุการรับรองมาตรฐาน มีอายุเหลือไม่ถึง 6 เดือน ถือปฏิบัติ เพื่อให้สามารถส่งเบิกค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมได้ จนกว่า ตรต. จะดำเนินการตรวจเยี่ยมและพิจารณาต่อใบรับรองมาตรฐานตามหลักการที่สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนด
10.กรมบัญชีกลาง อนุมัติให้ขยายวงเงินทดรองราชการฯ ในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน กรณีโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่ กทม. และ 76 จังหวัด จำนวน 50 ล้านบาท เพื่อให้สามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จึงได้อนุมัติให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและจังหวัด ปฏิบัตินอกเหนือระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ข้อ 18 กรณีขยายวงเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 50,000,000 บาท ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่จังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเฉพาะสถานการณ์ในครั้งนี้ได้ เป็นกรณีพิเศษ
11.กรมบัญชีกลาง อนุมัติให้ ปภ. และจังหวัด สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการฯ ที่ได้รับการขยายฯวงเงินฯ เป็นค่าตอบแทนได้เป็นกรณีพิเศษ ผู้ปฏิบัติงานทุกประเภท กรณี COVID-19 เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมที่ร่วมกันปฏิบัติงานในสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างคล่องตัว จึงอนุมัติให้ ปภ. และจังหวัดยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯ ให้สามารถใช้จ่ายเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรณี COVID-19 ที่ได้รับการขยายวงเงินจากกรมบัญชีกลางเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกประเภทที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติงานป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติ ค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านการดำรงชีพของผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติดังกล่าวได้เป็นกรณีพิเศษ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป
12.กรมบัญชีกลางอนุมัติอัตราค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานทุกประเภท กรณี COVID-19 จากเงินทดรองราชการฯ ที่ได้รับการขยายวงเงินฯ เป็นกรณีพิเศษ ตามอัตราที่กระทรวงมหาดไทยขอทำความตกลง ดังนี้
12.1 กรณีผู้ปฏิบัติงานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่เกิน 12 ชั่วโมง ให้ได้รับค่าใช้จ่ายในอัตราวันละ 120 บาท
12.2 กรณีผู้ปฏิบัติงานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ได้รับค่าใช้จ่ายในอัตราวันละ 240 บาท
13. กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทาง กรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ในแต่ละครั้งทุกวงเงิน ถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงสามารถดำเนินการซื้อหรือจ้างไปก่อนได้ แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในส่วนของการอ้างอิงราคากลาง หน่วยงานของรัฐสามารถใช้วงเงินที่จัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้งเป็นราคากลาง และเพื่อให้ได้พัสดุนั้นอย่างรวดเร็วที่สุด ทันต่อการใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ จึงกำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐประกาศเผยแพร่การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด และการประกาศดังกล่าว ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับถัดจากวันที่มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน และอัพโหลดข้อมูลทางระบบ e-GP โดยอนุโลม
14. กรมบัญชีกลางซ้อมความเข้าใจเพิ่มเติม เกี่ยวกับการดำเนินการในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ซ้อมความเข้าใจการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐกรณีต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้
14.1 กรณีที่โรคโควิด-19 เกิดขึ้นก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงกับผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก เมื่อหน่วยงานของรัฐมีหนังสือแจ้งให้ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือก มาลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือกแจ้งเป็นหนังสือว่าไม่สามารถจะลงนาม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 หากหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่าต้องลงนามตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้มีหนังสือเรียกผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือกที่เสนอราคาต่ำสุดหรือผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดมาทำสัญญาหรือข้อตกลง หากเรียกแล้วไม่ยอมเข้าทำสัญญาหรือข้อตกลงให้เรียกรายถัดไปตามลำดับ
สำหรับผู้ชนะการจัดซื้อจัดจ้างหรือผู้ได้รับการคัดเลือกที่เสนอราคาต่ำสุดหรือผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดที่เรียกแล้ว ไม่ยอมเข้าทำสัญญาหรือข้อตกลง ให้ถือว่ามีเหตุอันสมควรไม่เข้าลักษณะการเป็นผู้ทิ้งงาน และให้หน่วยงานของรัฐคืนหลักประกันการเสนอราคาให้แก่ ผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย
14.2 กรณีที่โรคโควิด-19 เกิดภายหลังจากที่หน่วยงานของรัฐได้ลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงกับคู่สัญญาแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณา ดังนี้
14.2.1 การบริหารสัญญา กรณีที่สัญญายังไม่ครบกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐนำจำนวนวันที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 มาขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลง ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง สำหรับกรณีที่สัญญาครบกำหนดและมีค่าปรับเกิดขึ้นแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนำจำนวนวันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง
14.2.2 การตรวจรับพัสดุของหน่วยงานของรัฐ หากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่สามารถดำเนินการตรวจรับพัสดุหรือไม่สามารถออกไปตรวจงานจ้าง ในกรณีงานจ้างก่อสร้างตามสัญญาหรือข้อตกลงได้ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอาจแต่งตั้งบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เป็นคณะกรรมการหรือกรรมการตรวจรับพัสดุแทน และให้เลื่อนระยะเวลาการตรวจรับพัสดุออกไปก่อน จนกว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะสามารถดำเนินการตรวจรับพัสดุนั้นๆ ได้
15. กรมบัญชีกลางขยายเวลาการจ้างงาน โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ เพื่อช่วยเหลือประชาชน จากสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาทางด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในระยะแรกโดยเฉลี่ย ระยะเวลา 90 วัน และกระทรวงแรงงานได้ขออนุมัติขยายระยะเวลาการจ้างงานในโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ กิจกรรมจ้างงาน ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้มีรายได้ ให้สามารถยังชีพได้ต่อไป กรมบัญชีกลางได้อนุมัติให้กระทรวงแรงงาน เบิกจ่ายค่าตอบแทนการทำงานของโครงการดังกล่าว ในอัตราคนละไม่เกิน 300 บาทต่อวัน ปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง โดยขยายระยะเวลาการจ้างงานจากเดิมไม่เกิน 10 วัน ให้เป็นคนละไม่เกิน 90 วัน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
และ 16. กรมบัญชีกลาง เตรียมจ่ายเงินเยียวยาคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านระบบ e-Social Welfare 29 พ.ค. 63 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้มีมติให้ช่วยเหลือคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนละ 1,000 บาท จำนวน 1 ครั้ง โดยเป็นคนพิการที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ และลงทะเบียนขอรับเงินเบี้ยความพิการต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกรมบัญชีกลางทำหน้าที่จ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิ ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.99 ล้านราย โดยจะสามารถจ่ายเงินให้แก่ผู้มีสิทธิได้ ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิ หรือบัญชีผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ.