คลังลุยต่อสู้โควิดฯ ตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เยียวยาเหยื่อ
โควิดฯหยุดคลังไม่อยู่! ล่าสุด “อุตตม” สั่งเดินหน้าสานต่อโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันฯ” ประกาศตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” และคลินิก “คลังสมอง หมอคลัง” รุกเข้าหาชาวบ้าน-ผู้ประกอบการ ตามติดและสำรวจปมเดือดร้อน ก่อนเร่งเยียวยาตามมา เผย! รอบนี้ ทั้งหน่วยงานและแบงก์รัฐในสังกัด จัดแคมเปญบูรณาการช่วยเหลือเต็มที่

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ (SFIs) ร่วมแถลงข่าวการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการดูแลเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการสานต่อโครงการ “ก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” และจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง

นายอุตตม กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่ก่อจะเกิดเหตุการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และหลังจากเกิดการณ์ดังกล่าว ก็ได้ออกมาตรการเยียวยาและกำลังจะสิ้นสุดโครงการในไม่ช้านี้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง จะไม่หยุดดำเนินการ แต่จะพัฒนาและต่อยอดโครงการเพื่อให้ขยายผลออกกว้างออกไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ
เนื่องจากกระทรวงการคลังมีข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเยียวยาฯ ทำให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะส่ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน สำรวจ ประเมินสภาพความเป็นอยู่ เพื่อทราบความเดือดร้อนและความต้องการพื้นฐานของผู้ได้รับการเยียวยาทั่วประเทศอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้จัดให้มี คลินิก “คลังสมอง หมอคลัง” เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งต่อยอดมาจากการรับเรื่องร้องทุกข์เงินเยียวยา ตามสาขาของ SFIs ทั่วประเทศ โดยจะให้บริการรับปรึกษาเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ทั้งด้านอาชีพ บริการทางการเงิน ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น และเมื่อได้รับทราบเรื่องราวร้องทุกข์แล้วจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามเรื่องเพื่อแจ้งผลให้กับประชาชนผู้ร้องทุกข์ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ได้รับการเยียวยาได้มีอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นการคืนความสุข หลังจากหลายธุรกิจมีการปิดกิจการลง ส่งผลให้มีพนักงานและลูกจ้างจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาพผู้ว่างงาน กระทรวงการคลัง ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดอบรมอาชีพ ด้วยการเสริมสร้างทักษะอาชีพใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่จะเปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง

โดยมอบหมายให้ SFIs ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ ดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคล และภาคธุรกิจ พร้อมสร้างตลาดใหม่ ปรับปรุงตลาดเก่าให้ได้มาตรฐาน สะอาด เป็นตลาดปลอดเชื้อเปิดช่องทาง E-Market ตอบสนองความต้องการพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่และผู้ที่สนใจ เพื่อสร้างรายได้บน Platform E-Market ของภาครัฐ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีนโยบายจัดกิจกรรม “สัญจร” ตามภูมิภาคต่างๆ ต่อไป เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ได้รับการเยียวยากระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจจากชนบทสู่เมือง จากฐานรากสู่ระดับประเทศ
(อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ และมาตรการดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ ได้จากข่าวอื่นๆ แยกตามหน่วยงานได้จาก เว็บไซต์ www.aec10news.com).