คกก.วินิจฉัยปรับกฎเหล็กใหม่ ลดปม “ซูเอี๋ย” รับงานรัฐ
เผย! คณะกรรมการวินิจฉัยออกกำหนดแนวทางปฏิบัติใหม่ ตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ การกำหนดผลงาน การระบุคุณลักษณะเฉพาะหรือยี่ห้อของพัสดุหวังสร้างความเป็นธรรมและโปร่งใส ลดปัญหา “ซูเอี๋ย” ระหว่างหน่วยงานรัฐกับผู้รับเหมาบางราย
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง (บก.) กล่าวว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (คณะกรรมการวินิจฉัย) ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร้องเรียน เนื่องจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ และการกำหนดผลงานในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในปัจจุบัน ที่ยังมีปัญหาการกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ หรือยี่ห้อของวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง เนื่องจากวัสดุบางประเภทยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดไว้
บางกรณีพบว่าหน่วยงานของรัฐอาจมีการกำหนดเงื่อนไขบางประการที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอด้วยกัน ซึ่งมีผลให้การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือกของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน โดยแนวทางปฏิบัติใหม่ฯมีประเด็นสำคัญดังนี้
1.การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ
1.1 งานจ้างก่อสร้างและการกำหนดรายการวัสดุมาใช้ในงานก่อสร้าง
– กรณีงานจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐกำหนดคุณสมบัติตามแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ(คณะกรรมการนโยบาย) กำหนด
– กรณีงานจ้างก่อสร้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
– ห้ามมิให้มีการกำหนดเงื่อนไขบางประการ กรณีงานจ้างก่อสร้าง เช่น การมีผลประกอบการเป็นกำไร การยื่นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม เป็นต้น
– การกำหนดผลงานก่อสร้าง ให้กำหนดได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณหรือวงเงินที่ประมาณการที่จะจ้างก่อสร้างในครั้งนั้น โดยผลงานต้องเป็นสัญญาเดียวที่ผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งมีการส่งมอบและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว
– การกำหนดรายการวัสดุที่จะนำมาใช้ในงานก่อสร้าง เช่น สี กระเบื้อง ยาง วัสดุฝ้าเพดาน สุขภัณฑ์ เป็นต้น กรณี มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือมาตรฐานที่หน่วยงานของรัฐอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกำหนด ก็ให้ระบุมาตรฐานนั้นได้
หากยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานข้างต้น แต่หน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องใช้วัสดุคุณภาพดี เป็นที่นิยมใช้กันในขณะนั้น และมีความจำเป็นต้องระบุยี่ห้อ ก็ให้ระบุชื่อยี่ห้อได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 ยี่ห้อ และให้ถือเป็นหลักการว่าวัสดุที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับยี่ห้อที่ระบุก็ให้ใช้ได้ด้วย แต่ถ้าผู้ยื่นข้อเสนอขอใช้วัสดุที่มีคุณภาพดีกว่าหรือเทียบเท่ากับที่หน่วยงานของรัฐระบุยี่ห้อไว้ ให้มีการพิสูจน์ให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ
1.2 งานซื้อหรืองานจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง
– การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามมิให้มีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง หรือของผู้ขายรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ
– การกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของงานซื้อ ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐกำหนดเจาะจงแหล่งประเทศผู้ผลิตหรือทวีป
– ในกรณีพัสดุที่จะจัดซื้อมีส่วนประกอบ เช่น ล้อ พวงมาลัย เบาะรถ เป็นต้น หรืออุปกรณ์ประกอบ เช่น สัญญาณไฟฉุกเฉิน ไฟท้ายรถ สัญญาณเตือนถอยหลัง เป็นต้น ห้ามมีการกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายและจะต้องมีหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ประกอบของพัสดุนั้น
– ห้ามมิให้กำหนดผลงานในงานซื้อหรืองานจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง แต่หากหน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดผลงาน ให้กำหนดผลงานได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณ หรือวงเงินที่ประมาณการที่จะจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนั้น
2. แนวทางการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอกรณีที่ไม่เป็นสาระสำคัญ
กรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้เสนอรายละเอียดแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไว้ในประกาศและเอกสารเชิญชวน หรือหนังสือเชิญชวนดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยและให้พิจารณาผ่อนปรนโดยไม่ตัดสิทธิ์ผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้น
– ผู้ยื่นข้อเสนอไม่รับรองสำเนาถูกต้องในหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) หรือหนังสือรับรองผลงาน
– ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ติดอากรแสตมป์ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาหรือหนังสือเชิญชวน รวมไปถึงเอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่มีเงื่อนไขกำหนดให้ยื่นมาพร้อมกับการยื่นข้อเสนอและเอกสารดังกล่าวจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย
– หน่วยงานของรัฐกำหนดให้ยื่นบัญชีผู้มีอำนาจควบคุม (ถ้ามี) แต่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีผู้มีอำนาจควบคุม การที่ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ยื่นบัญชีผู้มีอำนาจควบคุมจึงไม่ผิดเงื่อนไขตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด
ทั้งนี้ หากหน่วยงานของรัฐจะกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นเอกสารใดเพื่อประกอบการพิจารณาผลวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หน่วยงานของรัฐต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ในแบบเอกสารเชิญชวนที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด รวมทั้งให้ถือปฏิบัติกับวิธีคัดเลือกโดยอนุโลมด้วย
“การกำหนดแนวทางปฏิบัติกรณีดังกล่าวนั้น เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐมีความโปร่งใส เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดปัญหาในการอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือข้อร้องเรียนต่างๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ มีหลักฐานการดำเนินงานชัดเจน และมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุในทุกขั้นตอน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560” อธิบดีกรมบัญชีกลาง ระบุ.