มติ กนง.เฉียดฉิว! ลดดอกเบี้ยต่ำสุดเหลือ 0.50%
ดอกเบี้ยไทยต่ำเป็นประวัติการณ์ หลัง กนง.มีมติเฉียดฉิว สั่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง0.25% เหลือเพียง 0.50% หวังลดผลกระทบจากสารพัดปัจจัยลบ “เศรษฐกิจโลกและโควิดฯ” ด้านเลขาฯกนง. เตือนธุรกิจแบงก์ ระวัง! ความเสี่ยงจากภาคธุรกิจและครัวเรือน “เบี้ยวหนี้” เผย กนง.พร้อมติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ หวั่นพัฒนาการจนกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ ย้ำ! หากจำเป็น แบงก์ชาติพร้อมงัดมาตรการการเงินมาแก้ไข
ทำลายสถิติครั้งใหม่ สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ครั้งนี้…ถือว่าต่ำสุดๆ หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 พ.ค.2563 และเป็น นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. แถลงยืนยันผลการประชุม กนง. ครั้งนี้ ว่า ที่ประชุมฯมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี และให้มีผลทันที เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาด อีกทั้งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก
“กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาล และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ขณะที่กรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้และเร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว” เลขานุการ กนง. ระบุ
ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ ท่ามกลางเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ โดยรวม จึงเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้าเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ โดย กนง.จะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศและการระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมและโอกาสที่การระบาดในประเทศอาจกลับมา รวมทั้งประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยระยะต่อไป
นายทิตนันทิ์ ย้ำว่า ตลาดการเงินของไทยมีเสถียรภาพ หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการดูแล รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดรองผันผวนน้อยลง ทั้งนี้ ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้
ส่วนสินเชื่อขยายตัว โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ด้านส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคชะลอลงบ้าง สภาพคล่องในระบบการเงินในภาพรวมยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ต้องดูแลให้สภาพคล่องกระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ ปรับลดลงหลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) เป็นการชั่วคราว ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ รู้สึกเป็นกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ แม้ระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน หลังมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของภาครัฐทยอยสิ้นสุดลง จึงเห็นว่าสถาบันการเงินจะต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า และให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด รวมถึงดูแลสภาพคล่องและกลไกการทำงานของระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง
เลขานุการ กนง. กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ คณะกรรมการฯจะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป และหากจำเป็น ก็พร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป.