จี้ ธสน.ปรับกลยุทธ์ เจาะตลาดส่งออกรายประเทศ
“สันติ” มาแรง! ไล่บี้ EXIM BANK ทำหน้าที่มากกว่าให้สินเชื่อและค้ำประกันส่งออก สั่งประสานทูตพาณิชย์แต่ละประเทศ หาช่องทางการตลาดและชี้เป้าสินค้าที่ปลายทางต้องการ ควบคู่จัดทำข้อมูลและรวบรวมสถิติ ระบุ นี่คือภารกิจสำคัญครั้งใหม่ หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวภายหลังผู้บริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.หรือ EXIM BANK) ได้เข้าพบและรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ว่า ตนได้สั่งการให้ผู้บริหาร EXIM BANK วางกลยุทธ์เพื่อเตรียมความพร้อมแผนการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ส่งออกให้ครอบคลุมธุรกิจทุกรูปแบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก สตาร์ทอัพ และธุรกิจขนาดกลาง ทั้งในด้านการให้เครดิต การหาช่องทางการค้าขาย และการขยายตลาดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
โดยเร่งให้ EXIM BANK ไปจัดทำฐานข้อมูลรายประเทศและรวบรวมเป็นสถิติ พร้อมจัดทำการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการ สามารถนำไปพิจารณาช่องทางการทำตลาดของสินค้า รองรับการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้คล่องตัวมากขึ้น และเป็นแนวทางให้ EXIM BANK ได้พิจารณาการสนับสนุนด้านสินเชื่อ ธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้อง ทั้งประกันการส่งออก และ Letter of Credit (LC) ภายใต้ภารกิจของธนาคารฯ ที่เป็นส่วนสำคัญของการขยายตลาดส่งออกของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากที่ต้องประสบปัญหาการชะลอตัวของภาคการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ EXIM BANK ไม่ควรทำหน้าที่เพียงแค่ปล่อยสินเชื่อ หรือค้ำประกันการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ควรจทำหน้าที่ในการเจาะตลาด หาตลาด หรือแหล่งข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ส่งออกมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น
“อยากให้ EXIM BANK ไปสำรวจภารกิจตัวเอง โดยต้องทำหน้าที่มากกว่าการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับสถาบันการเงินทั่วๆ ไป ไม่ใช่ธนาคารเพื่อการส่งออก โดยต้องสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านการค้ำประกัน การสอดส่องดูแลว่าประเทศที่เป็นคู่ค้าของเรามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ อย่างไร โดยประสานกับทูตพาณิชย์ดูว่าประเทศนั้น ขาดแคลนหรือต้องการสินค้าประเภทไหน บางสินค้าผู้ประกอบการไทยก็สามารถผลิตได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการไม่รู้ ฉะนั้น อาจจะต้องประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไหนขาดแคลนอะไร เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะได้หาช่องทางส่งออกไป ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้คือภารกิจที่สำคัญของ EXIM BANK” รมช.คลัง ย้ำ และว่า
หลังจากรัฐบาลปลดล็อกการเดินทาง คาดว่าทุกคนจะมุ่งออกไปหาตลาด ทำให้การแข่งขันสูง ในช่วงนี้จะมีมาตรการสนับสนุนอย่างไร เช่น ในด้านเงินทุนอาจจะปล่อยกู้ไม่คิดดอกเบี้ย หรือในด้านการตลาด ก็ประสานกับทูตพาณิชย์แต่ละประเทศ ดูว่าสินค้าอะไร เซ็กเตอร์ไหนที่มีโอกาส อาจจะจัดสัมมนาให้กับสมาคมผู้ประกอบการ โดยเชิญทูตพาณิชย์มาให้ข้อมูล หากต้องการเงินทุนก็เติมให้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ EXIM BANK เป็นคำตอบในการที่จะรีสตาร์ทการส่งออกที่ได้ชะงักไป ให้กลับมาได้ และทำให้เอ็กซิมแบงก์เป็นองค์กรหนึ่งที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย.