“อินเด็กซ์”เน้นบริหารสภาพคล่อง-รุกออนไลน์สู้โควิด
“อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์” ปรับแผนธุรกิจ เน้นบริหารสภาพคล่องรักษากระแสเงินสด สู้วิกฤตโควิด-19 ทั้งคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายกลุ่มงานเอาต์ซอร์ส หยุดขยายสาขาใหม่ไปถึงหลังปี 2564 แต่เน้นปรับปรุงสาขาเดิม ยอมรับตลาดเฟอร์นิเจอร์ปีนี้ติดลบ 10%
น.ส.กฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลีฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวถึงการปรับตัวในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า แม้ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการลดต้นทุน ทำให้สามารถรักษากระแสเงินสดไว้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน มีการปรับลดงานในกลุ่มงานเอาต์ซอร์ส เช่น ลดจำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยและแม่บ้าน ลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปถึง 50% รวมถึงช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้หยุดการขยายสาขา เพื่อให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเพียงพอรองรับธุรกิจถึงปี 2564
“ในปี 64 บริษัทอาจยังไม่มีแผนขยายสาขาใหม่ แต่จะหันไปสร้างยอดขายแทน ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับปรุงสาขาเดิมแทนการสร้างสาขาใหม่ ซึ่งจะควบคุมงบประมาณต่อสาขาไม่ให้เกินหลักแสนบาท จากภาวะปกติจะใช้งบปรับปรุงต่อสาขาสูงถึง 10 ล้านบาท”
สำหรับแนวโน้มการทำตลาดและการขายในช่วงที่มีการปิดเมืองนั้น บริษัทได้เพิ่มช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายเพิ่มขึ้น 7-8 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนมี.ค.ยอดขายออนไลน์เติบโตถึง 3 เท่าตัว ลูกค้าหันมาเลือกซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดขายทางออนไลน์ ยังไม่สามารถชดเชยกับยอดขายหน้าร้านที่หายไปทั้งหมด เพียงแต่ช่วยให้เกิดการขายที่ปรับตัวดีขึ้น
ขณะเดียวกัน อินเด็กซ์ฯ ประเมินว่าวิกฤตที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันเป็นแค่จุดเริ่มต้น และยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และยังไม่สามารถประเมินถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจ แต่การที่รัฐบาลมีการปลดล็อกดาวน์ระยะที่ 2 ล่าสุดนั้น จะส่งผลดีต่อธุรกิจ และร้านค้าในรูปแบบโมเดิร์นเทรดทั้งหมด ในส่วนผลบวกต่อตลาดเฟอร์นิเจอร์นั้น คิดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น เนื่องจากเป็นผลของดีมานด์อั้น(ความต้องการซื้อ)ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้คาดว่าช่วงเดือนมิถุนายนและต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม ยอดขายเฟอร์นิเจอร์จะขายดีมาก แต่เมื่อย่างเข้าสู่กลางไตรมาส 3 คงต้องติดตามผลกระทบจากที่บริษัทเอกชนหลายแห่งลดการจ้างงานลง และความกังวลเรื่องรายได้ที่ลดลง จะมีผลให้กำลังซื้อในช่วงดังกล่าวลดหายไป ทำให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์เข้าสู่ภาวะชะลอตัวอีกครั้ง
“กลุ่มสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งนี้ อินเด็กซ์ฯ ประมาณการยอดขายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 จะหดตัวลง 15 -20% เมื่อประเมินตลาดรวมในปีนี้จะติดลบประมาณ 10% ดังนั้น ในภาวะเช่นนี้ การปรับตัวของผู้ประกอบการที่ดีที่สุด คือ การรักษาสภาพคล่อง ขณะที่กลุ่มธุรกิจทั่วไปที่สายป่านไม่ยาวพอ ในช่วงเดือน พ.ค.นี้ คงต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อพยายามรักษาธุรกิจไว้ให้ได้” น.ส.กฤษชนก กล่าว