แลกสินค้า กทบ.โตเร็วมาก แนะใช้ขนส่งสินค้าสาธารณะลดต้นทุน
กระจายตัวเร็วมาก! โครงการ “ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้าน” ขยายผลไปทั่วประเทศ ด้าน “รักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ” ลั่น! ยิ่งแลกเปลี่ยนสินค้าทุกวัน ยิ่งดันเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง ประกาศพร้อมเดินทางไปให้กำลังใจทุกที่ “หวังสร้างงาน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกฯ” ให้ดีขึ้น แนะ! ใช้บริการขนส่งสาธารณะ “รถไฟ-บขส.” ช่วยลดต้นทุนขนส่งสินค้าระหว่างกัน เผย! “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เตรียมหาแนวทางลดต้นทุนขนส่งในภาพใหญ่แล้ว
“ถ้ากองทุนหมู่บ้านฯที่อยู่ห่างไกลกัน จะมีกิจกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันและกันในทุกๆ วัน ผมก็พร้อมจะเดินทางไปร่วมให้กำลังใจ และขยายผลในกิจกรรมดีๆ เหล่านี้ ไปยังกองทุนหมู่บ้านฯอื่นๆ ทั่วประเทศ”
ข้างต้น คือ คำยืนยันจากปากของ “ผอ.เปิ้ล” นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ที่กล่าวระหว่างเป็นประธานใน “โครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” ที่ 3 กองทุนหมู่บ้าน…จาก จ.หนองคาย จ.ชุมพร และ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นเจ้าบ้านในกิจกรรมดีๆ ได้นำสินค้าในพื้นที่ของตัวเองมาแลกเปลี่ยนกันและกัน เมื่อช่วงสายของวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
นายรักษ์พงษ์ ย้ำว่า “เพราะทุกการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่แตกต่างกันและเป็นที่ต้องการของสมาชิกในกองทุนฯ ไม่เพียงจะช่วยลดค่าใช้จ่าย แต่ยังส่งเสริมให้เกิดการผลิต การจ้างงาน และสร้างรายได้ภายในชุมชนของแต่ละกองทุนฯเพิ่มมากยิ่งๆ รวมถึงขยายโอกาสทางการตลาดให้กว้างมากขึ้นไปอีก สิ่งนี้…ไม่เพียงจะช่วยส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็ง เหมือนเช่นที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ให้นโยบายเอาไว้ หากยังช่วยส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกของกองทุนฯ ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก”
ถึงวันนี้…ไม่เพียงแกนนำของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่มีมากกว่า 7.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ จะเกิดความรู้สึกบางอย่างที่ตรงกัน หากแต่สมาชิกของทุกกองทุนฯที่มีรวมกันมากกว่า 12.9 ล้านคน ยังจะเกิดความรู้สึกคล้ายๆ กัน นั่นคือ…ความเชื่อมั่นต่อ สทบ.ในยุคนี้ และนั่น ได้นำไปสู่การสร้างกลไกในการเชื่อมระหว่างกองทุนต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ
ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกคนของ สทบ. โดยเฉพาะ “2 คนสำคัญ” นั่นคือ…นายสมคิด และนายรักษ์พงษ์ ที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานในภารกิจครั้งยิ่งใหญ่นี้
จากนี้…เรื่องสำคัญที่จะต้องเดินคู่ขนาน ไปกับการรณรงค์ส่งเสริมให้แต่ละกองทุนฯ ได้สร้าง “โครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” ซึ่งแน่นอนว่า…แค่กองทุนหมู่บ้านฯ สร้างวงจรการผลิต การจ้างงาน และการจัดจำหน่าย รวมถึงนำมาแลกเปลี่ยนสินค้ากันและกัน ย่อมก่อประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งต่อตัวสมาชิกฯ ต่อกองทุนหมู่บ้านฯที่ตนสังกัด และต่อชุมชนที่ตัวเองพักอาศัย รวมทั้งยังมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจฐานราก อันมีพื้นฐานมาจากโครงข่ายความเชื่อมโยงระหว่างกองทุนหมู่บ้านฯด้วยกันเอง
และสิ่งที่จะต้องเดินคู่ขนานไปนั้น ก็คือ การขนส่งสินค้าระหว่างกัน แน่นอนว่า…ช่วงแรกของกิจกรรมดีๆ ในการนำสินค้าที่แตกต่างกันมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันและกัน ย่อมเป็นเรื่องที่ตื่นตาตื่นใจ ทว่าเมื่อเวลาผ่านพ้นไป…ต้นทุนการเดินทางไปมาหากันและการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในอนาคต และอาจทำให้โครงการในลักษณะนี้ เกิดอาการสะดุดและหยุดลงได้ จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องหาแนวทางแก้ไขและป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ
ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์…ย่อมมองเห็นปัญหาและวางแนวทางแก้ไข ไปพร้อมกับการสร้างโอกาสใหม่ๆ จากสิ่งที่มีในสังคม และเป็น นายรักษ์พงษ์ ที่มีคำแนะนำดีๆ กับผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านฯทุกแห่ง
“เทคโนโลยีวันนี้ช่วยให้การติดต่อสื่อสาร เพื่อสร้างโอกาสในซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้านฯ ทำได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว เพียงแค่โทรศัพท์ถึงกัน ส่วนหนึ่งเพราะแต่ละกองทุนหมู่บ้านฯ ต่างรู้จักและคุ้นเคยกันอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อตกลงซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันได้แล้ว หากสินค้ามีน้ำหนักและปริมาณมากๆ ก็สามารถจะใช้บริการขนส่งสินค้าของ บขส. หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย ในราคาไม่แพงได้ เราก็แค่ไปรับสินค้าที่ปลายทางเท่านั้น” นายรักษ์พงษ์ ย้ำและว่า
ขณะนี้ ประธานกองทุนหมู่บ้านฯ (นายสมคิด) กำลังหาทางที่จะช่วยลดภาระในการขนส่งระหว่างกันของกองทุนหมู่บ้านฯ ส่วนแนวทางจะออกมาในลักษณะใด? และเมื่อไหร่? นั้น เมื่อมีความชัดเจนแล้ว ตนจะแจ้งให้ทราบอีกที แต่ระหว่างนี้ การใช้บริการสาธารณะในการขนส่งสินค้า น่าจะเป็นอีกทางออกที่สามารถทำได้คู่ขนานไปกับการเดินทางมาพบเจอกัน เหมือนเช่นที่…ผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านฯ “3 จังหวัด” (หนองคาย ชมพร และเพชรบุรี) ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างในครั้งนี้
สำหรับ “โครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” ที่ กองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญนอก หมู่ที่ 1 ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี ดำเนินการนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายสร้างรายได้ ลดรายจ่ายครัวเรือนให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ซึ่งจะส่งผลไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในประเทศ
และครั้งนี้…เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ จ.หนองคาย ได้สานต่อโครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ด้วยการรวบรวมเงินจากกองทุนหมู่บ้านฯ ใน จ.หนองคาย จัดซื้อข้าวสาร 1,300 ถุงๆ ละ 5 กิโลกรัม เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านฯ จ.ชุมพร ที่นำอาหารทะเลมาแลกเปลี่ยนอาทิ กะปิ ปลาทูเค็ม และปลาหมึกตากแห้ง
โดยการประเมินและตกลงราคา ต่างทำด้วยความสมัครใจ เพื่อให้เกิดรายได้เข้าสู่ชุมชนโดยตรง ทั้งนี้ สทบ.ยังคงเดินหน้าสนับสนุน เสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ให้กับพี่น้องกองทุนหมู่บ้านฯพร้อมสร้างต้นแบบในการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศต่อไป.