สทบ.ลุย “สร้างรายได้ ลดรายจ่าย” หนุนเศรษฐกิจฐานรากยั่งยืน
สทบ.ขานรับนโยบาย เสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ขับเคลื่อนโครงการร่วมมือ เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ด้าน “ผอ.รักษ์พงษ์” นำทีมเปิด “โครงการเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” หวังนำแนวทางของ กองทุนชุมชนเมืองหมู่ที่ 1 แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก เป็น “ต้นแบบ” ขยายไปยังกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่างๆ ขณะที่ “อธิบดีกรมธนารักษ์” ประเดิมสั่งซื้อข้าวบรรจุถุง “กทบ.” หวังอุดหนุนสินค้าของกองทุนหมู่บ้าน เผยแนวทางนี้ มีส่วนร่วมสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนของรัฐบาล
ขยายผลได้เร็วมาก! สำหรับแนวคิด “สร้างงาน เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เติมเต็มคุณภาพชีวิต” ให้กับพี่น้องสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ อันมี “จุดตั้งต้น” มาจากแนวนโยบายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มอบให้กับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ภายใต้การนำของ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สทบ. รับไปดำเนินการ
ล่าสุด ช่วงบ่ายวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจเข้าร่วมประชุม “แผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” กับนายสมคิด, ผู้บริหารจากกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่กระทรวงการคลังแล้ว บทบาทในภารกิจข้างต้น ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง และจะเป็นอีกครั้งที่ถูกนำไปขยายผลยังกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอื่นๆ
“โครงการร่วมมือ เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” ณ กองทุนชุมชนเมือง หมู่ที่ 1 แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ คือ จุดหมายปลายทางของ สทบ. และแขกคนสำคัญอย่าง นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ และคณะผู้บริหารฯ ที่เดินทางมาประเดิมซื้อข้าวสารบรรจุถุง 5 ก.ก. ติดตราสัญลักษณ์ “กทบ.” จำนวน 500 ถุง
นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่า นโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เป็นนโยบายสำคัญของ นายสมคิด ที่เน้นการเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ให้กับพี่น้องกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งจะส่งผลไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ สทบ.ได้เร่งดำเนินการภายใต้นโยบายดังกล่าว จึงได้เกิด “โครงการร่วมมือ เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” ณ กองทุนชุมชนเมือง หมู่ที่ 1 แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก ที่ได้รวมกลุ่มและจัดตั้งโรงสีข้าว เพื่อรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกกองทุนฯ นำมาบรรจุถุงพร้อมจำหน่าย อันเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับสมาชิกฯ และในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก อธิบดีกรมธนารักษ์ และคณะฯ เดินทางมารับซื้อข้าวสาร เพื่อเป็นการสนับสนุนสินค้ากองทุนหมู่บ้านฯ ให้เกิดรายได้เข้าสู่ชุมชน ทั้งยังเป็นตัวอย่างเผยแพร่สู่สาธารณชนและเป็นแบบอย่างให้กับกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ ได้นำไปเป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป
“ข้าวสารบรรจุดถุงสุญญากาศของกองทุนชุมชนเมือง หมู่ที่ 1 แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก ถือเป็นผลิตภัณฑ์ตัวที่ 2 ที่ได้ติดตราสัญลักษณ์ “กทบ.” เอาไว้ เพื่อให้รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของกองทุนหมู่บ้านฯ ก่อนหน้านี้ ก็มี น้ำดื่มที่ติดตราสัญลักษณ์ “กทบ.” และจากนี้ ก็จะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามมา ทั้งนี้ ทุกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สามารถใช้ตราสัญลักษณ์นี้ได้ เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญเท่ากัน เพียงแต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน เช่น ข้าวสารบรรจุถุง ก็จะมีข้อความอธิบายตามมาว่า ผลิตจากแหล่งหรือกองทุนฯใด ส่วนการควบคุมคุณภาพสินค้านั้น เบื้องต้นเราคงเน้นความเชื่อมั่นใจกัน และต้องทำใจยอมรับว่า นี่คือผลิตภัณฑ์ของกองทุนหมู่บ้านฯ ที่สมาชิกฯ ซึ่งก็เป็นพี่น้องกับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ทุกครั้งที่ซื้อไปกินหรือนำไปใช้ ให้นึกถึงใบหน้าของพี่น้องเราเอง จะทำให้พวกเราเกิดความสุขใจที่ได้ร่วมอุดหนุนกันและกัน” นายรักษ์พงษ์ ย้ำ
นอกจากนี้ ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ตนและคณะ พร้อมทั้งสื่อมวลชนจากส่วนกลาง จะเดินทางไปที่กองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี เพื่อไปร่วมโครงการความร่วมมือเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนฯ เนื่องจากมีผู้บริหารกองทุนหมู่บ้านใน จ.ทางภาคอีสาน นำข้าวสาร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของกองทุนฯ มาจำหน่ายที่กองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ และนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายข้าว ไปซื้อหาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปของกองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ
“สิ่งนี้ ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนสินค้า (บาร์เตอร์เทรด) ระหว่างกัน แต่เป็นการซื้อขายที่มีการใช้เงินสดเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้ากันจริงๆ ซึ่งการแลกเปลี่ยนสินค้า อาจเป็นการมัดมือชกให้กับบางกองทุนฯที่ไม่ต้องการสินค้าของอีกฝ่าย แต่การซื้อขายจะสร้างความพึงพอใจต่อกันได้มาก ส่วนเมื่อได้เงินมาแล้ว จะซื้ออะไรกลับไป ก็เป็นความพึงพอใจของทุกฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่า ขายสินค้าได้เท่าไหร่ ก็ซื้อกลับคืนไปเท่านั้น และสิ่งนี้จะเป็นอะไรที่ยั่งยืน สร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่ายมากกว่า” ผอ.สบท. ย้ำ
ด้าน นายยุทธนา กล่าวว่า กรมธนารักษ์มี “โครงการธนารักษ์ประชารัฐ” และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมาร่วม “โครงการเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” กับ สทบ.ในครั้งนี้ ก็จะเป็นความเชื่อมโยงของโครงการที่มีประชาชนจากชุมชนในพื้นที่เป็นหมายที่สำคัญ อีกทั้งยังจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เปิดโอกาสให้กับประชาชนได้จำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในท้องถิ่น อันเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
“กรมธนารักษ์เองมีโครงการความร่วมมือกับ สทบ.อีกมากในอนาคต และการช่วยอุดหนุนซื้อข้าวสารในครั้งนี้ เชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ต่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯได้อย่างมาก สำหรับข้าวสารบรรจุถุงที่ซื้อจากกองทุนหมู่บ้านฯนี้ กรมธนารักษ์จะนำไปมอบให้กับพี่น้องประชาชนที่เช่าพื้นที่ของที่ราชพัสดุ ในเขตกรุงเทพฯ รวม 3 ชุมชน โดยจะมอบไปพร้อมกับอาหารแห้งและของใช้จำเป็นอื่นๆ ต่อไป” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
ขณะที่ นายวิวัฒน์ นุ่มกำเนิด ปธ.กองทุนชุมชนเมือง หมู่ที่ แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กล่าวว่า กองทนฯมีสมาชิกเกือบ 200 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา มีพื้นที่ทำนากว่า 100 ไร่ แม้กองทุนฯจะเพิ่งทำนามาได้เพียง 3 ปีเศษ แต่ตนเคยเป็นชาวนามาก่อน มีความรู้ในฐานะ “ปราชญ์ชาวบ้าน” เป็น “หมอดิน” สามารถซื้อ “แม่ปุ๋ย” มาผสมเป็นปุ๋ยใช้กับนาข้าว ซึ่งนอกจากประหยัดรายจ่ายแล้ว ยังทำให้คุณภาพข้าวเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
สำหรับกำลังการผลิตข้าวสารบรรจุถุง กองทุนฯสามารถทำได้วันละ 500-550 ก.ก. โดยต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิก 1 ตัน (1,000 ก.ก.) มาเข้าโรงสีของกองทุนฯ และเข้าเครื่องบรรจุหีบห่อ ทั้งนี้ นอกจากข้าวที่ได้ ที่มีทั้งข้าวกล้องและข้าวขัดสีแล้ว ยังมีปลายข้าว รำข้าว แกลบ และอื่นๆ ซึ่งล้วนนำไปใช้ทำประโยชน์ได้ทั้งหมด โดยครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่กรมธนารักษ์ได้ประเดิมสั่งซื้อข้าวของกองทุนฯ หากมีคำสั่งซื้อจากแหล่งอื่นๆ ตามที่ ผอ.สทบ. แนะนำมาให้แล้ว เชื่อว่าอนาคตของข้าวบรรจุถุง “กทบ.” ของกองทุนฯ น่าจะสดใส และทำให้สามารถรับซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกได้ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ทั้งนี้ หากเป็นข้าวเปลือกคัดเกณฑ์ ที่มีความชื้นตามที่กำหนด สมาชิกฯจะได้ราคาสูงถึงตันละ 10,000 บาท แต่หากคุณภาพและความชื้นต่ำกว่ามาตรฐาน ราคารับซื้อก็จะลดลง เหลือ 8,000 – 9,500 บาท/ตัน ซึ่งก็ยังสูงกว่าราคาตลาดอยู่ดี
“ที่เราต้องทำบรรจุภัณฑ์ในแบบสุญญากาศ แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้นเฉลี่ย 3 บาทเศษ (ถุง 1 ก.ก.) จนถึง 7-8 บาท (ถุง 5 ก.ก.) แต่ก็ทำให้สินค้าดูดี มีคุณค่า สามารถนำไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าได้ ที่สำคัญทำให้ขายออกไปได้เร็ว ทั้งนี้ หากมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก กองทุนฯก็พร้อมจะเพิ่มกำลังการผลิต และเพิ่มการซื้อข้าวเปลือกจากสมาชิกฯ เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว ขณะเดียวกัน สมาชิกฯก็สามารถมาซื้อข้าวสารจากองทุนฯ แบบชั่งกิโลฯ ซึ่งจะถูกกว่าข้าวสารบรรจุถุงได้อีก” นายวิวัฒน์ กล่าว.