ยกเคสท์ “ชุมชนพระยาประสิทธิ์” สร้างรายได้สู่กองทุนหมู่บ้านฯ
เป็นอีก “ต้นแบบ” สำหรับการมองเห็นโอกาสในวิกฤติของชุมชนเมืองฯ และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ของสมาชิกในชุมชนฯ จากเดิมที่เคยรับจ้าง “ตัดเย็บถุงผ้า” มาเป็นผลิต “หน้ากากอนามัยคุณภาพสูง” ทั้งแจกฟรี! ขายส่งและขายปลีก นำไปสู่ การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มพูนรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง “ชุมชนพระยาประสิทธิ์” แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม
กระทั่ง วันที่ 1 พ.ค.2563 แม้จะตรงกับ “วันแรงงานแห่งชาติ” แต่ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ในยุคของ นายรักษ์พงษ์ เช่งเจริญ ผอ.สทบ.คนล่าสุด ต้องลงไปตรวจเยี่ยมและต่อยอดนำความสำเร็จของ กองทุนฯชุมชนพระยาประสิทธิ์ ภายใต้การนำของ นางมณี จิรโชติมงคลกุล ปธ.กองทุนฯ ไปขยายผลใน มิติ “การเพิ่มรายได้” สู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอื่นๆ หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน ผอ.สทบ.ได้นำคณะฯลงไปตรวจเยี่ยมและต่อยอดความสำเร็จของ กองทุนฯทุ่งคุ้ง จ.อยุธยา ที่สร้างกิจกรรม “แลกเปลี่ยนสินค้า” กับกองทุนฯอื่นๆ เพื่อขยายผลในมิติ “การลดรายจ่าย” ให้กับสมาชิกกองทุนฯ
นายรักษ์พงษ์ กล่าวว่า สทบ.ได้รับนโยบายจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองทุนหมู่บ้านฯ ให้ดำเนินการ ในลักษณะท่ีมุ่งเน้นไปที่ “การสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ให้กับสมาชิกฯและประชาชนในท้องถิ่น สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่รัฐบาลพยายามเร่งดำเนินการภายหลังมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง และนำสู่มาตรการฟื้นฟูในทุกมิติต่อไป
“จากนี้ รัฐบาลได้วางแผนด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างราย ลดรายจ่าย และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในชนบท ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งบทบาทของ สทบ.ถือว่าตรงจุดและใกล้ชิดกับคนกลุ่มนี้มากที่สุด โอกาสความสำเร็จที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลมีความเป็นไปได้มากที่สุด เชื่อว่าจากนี้ไป แนวทางการดำเนินการของ สทบ.เอง ก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล และจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ทั้ง 7.9 หมื่นกองทุนฯ ครอบคลุม 12.9 ครัวเรือน และสมาชิกเครือข่ายในแต่ละครอบครัวกว่า 30 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ” นายรักษ์พงษ์ ย้ำ
ด้าน นางมณี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กองทุนฯชุมชนพระยาประสิทธิ์ ได้ดำเนินกิจกรรมการรับจ้างผลิตถุงผ้า ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่เป็นธนาคารชุมชน รับฝากเพื่อสร้างเงินออม และปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิกฯ แต่จะเน้นไปที่การฝึกอาชีพและการสร้างงาน เพื่อให้สมาชิกได้มีรายได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทย ตนมองเห็นปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย จึงจัดส่งตัวแทนชุมชนฯไปเรียนรู้เพื่อกลับมาผลิตสำหรับแจกจ่ายให้กับสมาชิกในชุมชนฯ
จากนั้น จึงเริ่มมีการว่าจ้างให้ผลิตหน้ากากอนามัยจากภายนอกชุมชนมฯ แต่เราทำได้ไม่นาน เพราะปัญหาความขาดแคลนหน้ากากอนามัยเริ่มมีมากขึ้นทุกขณะ จึงเปลี่ยนไปเป็นการผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน รวมถึงขายปลีกและขายส่งในราคาไม่แพงแทน พร้อมกับเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรในการผลิตหน้ากากอนามัยรองรับความต้องการของชุมชนและสังคมไทย
“ทุกวันนี้ มีช่างตัดเย็บหน้ากากอนามัยของกองทุนฯชุมชนพระยาประสิทธิ์ประมาณ 6-7 คน บางคนก็เก่งและเรียนรู้ได้เร็ว ผลิตต่อวันได้ถึง 100 ชิ้น ขณะที่บางคนเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ชำนาญงาน อาจผลิตได้เพียง 20-30 ชิ้นต่อวัน แต่โดยเฉลี่ยต่อคนจะผลิตได้ประมาณ 50 ชิ้นต่อวัน แต่ละชิ้นจะมีรายได้ค่าตัดเย็บชิ้นละ 5 บาท ถือว่าพออยู่และเลี้ยงครอบครัวโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล” นางมณี ระบุและว่า
เนื่องจากตนเคยประกอบอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้ามาก่อน ดังนั้น จึงวางแผนหลังหมดวิกฤติโควิด-19 นั่นคือ ฝึกให้สมาชิกฯเปลี่ยนจากผลิตหน้ากากอนามัย มาเป็นการตัดเย็บเสื้อผ้า ทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง รวมถึงรับจ้างผลิต เหมือนที่ทำหน้ากากอนามัย ขณะเดียวกัน ก็ยังคงรับจ้างผลิตถุงผ้าต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อใช้อุปกรณ์เครื่องจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ตนเพิ่งได้รับคำสั่งซื้อจาก กร.อมน. ให้รับจ้างผลิตถุงยังชีพจำนวน 150 ใบ และต้องจัดส่งภายในวันที่ 4 พ.ค.นี้ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
“ดิฉันดีใจมากที่เสนอโครงการฯไปแล้วได้รับการพิจารณาและอนุมัติทันที่แค่ 7 วันเท่านั้น เราจึงมีเงินไปจัดซื้อจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมมารองรับคำสั่งผลิตหน้ากากอนามัยได้อย่างทันเวลา และเราได้จัดทำหน้ากากอนามัย ความหนา “3 ชั้น (ผ้า)” ให้กับ สทบ. จำนวน 1,000 ชิ้น เพื่อที่ สทบ.จะนำไปแจกจ่ายให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่างๆ รวมถึงบริจาคให้กับภาคประชาสังคมต่อไป” ปธ.กองทุนฯชุมชนพระยาประสิทธิ์ กล่าว.