โควิดพ่นพิษราคาบ้านต่ำ 2 ล้านกระทบหนัก

นายกส.อสังหาฯชลบุรี ประเมินการปิดโรงงงานอุตฯในนิคมฯ สกัดการแพร่เชื้อโควิด-19 กระทบหนักถึงกำลังซื้อระดับกลางลงล่าง ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคา 1.5-2 ล้านบาท ยอดขาย-ยอดโอนตก จับตา อีอีซี ดัน จีพีดี ให้เติบโต
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี เปิดเผยถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้ต้องมีมาตรการควบุคมและปิดเมืองว่า ภาครวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดชลบุรี ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอและลดลง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวลงอย่างรุนแรง ทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่ให้บริการในรูปแบบเพื่อการพักผ่อน จะได้รับผลจากเชื้อไวรัสโควิด -19 และมาตรการของภาครัฐ
“ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตลดลง แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทยลดหายไป ถึงแม้ล่าสุดภาวะจำนวนการติดเชื้อจะมีจำนวนลดลง แต่มาตรการการควบคุมยังเข้มอยู่มาก กระทบต่อภาคธุรกิจ ทำให้มีรายได้ลดลง และอาจทำให้เกิดลดการจ้างงาน ยอดขายของโครงการอสังหาฯ หายไปอย่างน้อยร้อยละ 30-40 กลุ่มที่อยู่อาศัยในจังหวัดชลบุรี ระดับราคา 1.5-2 ล้านบาท จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเกี่ยวโยงกับกลุ่มที่ทำงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ขณะนี้มีการปิดตัวลง โครงการทาวน์เฮาส์บางแห่ง ลดราคาถึงร้อยละ 10-20 ขณะที่สินค้าที่อยู่อาศัยคงค้างในจังหวัดชลบุรี ที่อยู่ระหว่างการขายและก่อสร้างมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 1 แสนหน่วย คาดต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการระบายสต๊อกหมด“
สำหรับกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติ ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด เปรียบเทียบทำเลกรุงเทพฯกับชลบุรี พบว่า ชลบุรี มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ 4,740 ยูนิต ลดลง 21% ส่วนกทม. มียอดโอน 5,481 ยูนิต ลดลง 22.6% มูลค่าการโอนในชลบุรี รวม 12,202 ล้านบาท ลดลง 0.9% ขณะที่ในพื้นที่กทม.มีมูลค่า 31,628 ล้านบาทลดลง 19.4%
ในส่วนของพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ (อีอีซี) ปัจจุบันภาครัฐได้มีการดำเนินการลงทุนไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะในชลบุรี ได้มีการส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมด้านการบิน หรือศูนย์กลางการบินภาคตะวันออก และสนามบินแห่งที่ 3 ของประเทศ โดยได้พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อสร้างให้เป็น “มหานครใหม่” ที่ใกล้ กทม. เชื่อมด้วยรถไฟความเร็วสูง มูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสนับสนุนให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ คาดสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลได้ถึง 1 แสนคนต่อปี สร้างเม็ดเงินได้กว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี
“อีอีซี เป็นสิ่งที่คนชลบุรีคาดหวังที่จะกลับมาให้ชลบุรีโตได้อีก โครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น โครงการไฮสปีดเทรน จะผลักดันให้จังหวัดชลบุรี และพัทยา ซึ่งคนจีนก็มองว่าเป็นทำเลที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯ และหากสามารถขยายเพดานให้ต่างชาติมากว่าร้อยละ 49 น่าจะเป็นสร้างกำลังซื้อให้เกิดขึ้น โดยอาจจะนำร่องในพื้นที่อีอีซี ก่อนจะขยายโมเดลดังกล่าวไปยังภูมิภาคอื่นๆ และจะเริ่มเห็นพฤติกรรมคนจีน ฝันอยากมีบ้านบนที่ดิน ซึ่งการทำโครงการบ้านจัดสรรเช่า 30 ปี หากทำในเชิงธุรกิจอาจไม่ถึงจุดคุ้มทุน ต้องมีการประเมินใหม่”.