สทบ.จ่อขยาย “บาร์เตอร์เทรด” 7.9 หมื่นกองทุนหมู่บ้าน
“รักษ์พงษ์” นำทีมผู้บริหาร สทบ. ร่วมเป็นสักขีพยาน “ข้าวแลกอาหารทะเล” ของ 2 กองทุนหมู่ “ท้องคุ้ง” จากอยุธยาและสมุทรสาคร เผยแนวคิด “กทบ.บาร์เตอร์เทรด” จะถูกขยายผลไปยัง 7.9 หมื่นกองทุนหมู่บ้านทั่วไทย ย้ำ! จากนี้ จะเน้นแนวทาง “สร้างงาน – เพิ่มรายได้ – ลดรายจ่าย” ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยกว่า 30 ล้านคนในเครือข่าย สทบ. สอดรับแนวคิด Local Economy ของรัฐบาล
จ.อยุธยา เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 เม.ย.2563 เกิดปรากฏการณ์ “นำร่อง” ที่อาจนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมใหม่ของกองทุนหมู่บ้านที่มีราว 7.9 หมื่นแห่งทั่วประเทศ นั่นคือ พิธีแลกเปลี่ยนสินค้ากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง “ข้าวสารท้องคุ้งและอาหารทะเลท้องคุ้ง” ระหว่างกองทุนหมู่บ้านท้องคุ้ง ม.4 ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.อยุธยา และ กองทุนหมู่บ้านท้องคุ้ง ม.6 ต.กาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานฯในพิธีฯ ว่า การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันครั้งนี้ เป็นความตกลงร่วมกันระหว่างกองทุนหมู่ที่มีชื่อเหมือนกัน แต่อยู่คนละจังหวัด และมีสินค้าแตกต่างกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ สทบ.ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะตรงกับนโยบายที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ต้องการจะส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ให้กับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทย
โดยเฉพาะภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และนโยบายสั่งปิดการดำเนินธุรกิจในหลายกิจการของรัฐบาล จนมีแรงงานจำนวนนับล้านคนย้ายกลับคืนสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง ทั้งนี้ หากภาครรัฐ โดย สทบ.มีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนให้กองทุนหมู่บ้านต่างๆ สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยใช้แรงงานและวัตถุดิบภายในพื้นที่ หรือหากขาดแคลนวัตถุดิบบางอย่าง ก็สามารถติดต่อและแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน เหมือนเช่นที่กองทุนหมู่บ้านท้องคุ้งทั้ง 2 กองทุน ได้ดำเนินการในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก
“ถือว่าผู้นำกองทุนหมู่บ้านทั้ง 2 แห่ง มีความคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตอันใกล้ แม้การแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งในหลายๆ อย่าง แต่การ สทบ.มีเครือข่ายในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด กระจายอยู่ทั่วประเทศ ผ่านสำนักงานสาขาทั้ง 13 แห่ง ดังนั้น จึงให้ความสนใจและเข้าร่วมพิธีแลกเปลี่ยนสินค้าฯในครั้งนี้ เพื่อนำแนวทางดังกล่าวมาขยายผล และใช้เป็น “ต้นแบบ” ในการประชาสัมพันธ์และเชิญชวนกองทุนหมู่บ้านอื่นๆ ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต หรือหาสินค้าที่ชุมชนตัวเองไม่มี มาเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกฯ” ผอ. สทบ. ย้ำและว่า
หัวใจสำคัญของกองทุนหมู่บ้านฯจากนี้ไป จะมีมากกว่าการทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินของชุมชนฯ แม้ว่าการเป็นแหล่งเงินกู้และแหล่งออมเงินให้กับสมาชิกกองทุนฯ จะเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น อีกทั้งกองทุนหมู่บ้านฯส่วนใหญ่ ก็ทำภารกิจนี้ได้ดีอยู่แล้ว ทว่าในช่วงตนเข้ามารับหน้าที่ใน สทบ. จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างและพัฒนา รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ พร้อมกับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ผ่านการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะสมาชิกกองทุนหมู่ที่มีมากถึง 12.9 ล้านคนทั่วประเทศ และหากนับรวมคนในครอบครัวของสมาชิกกองทุนฯแล้ว จะมีเครือข่ายสมาชิกฯและคนในครอบครัวของกองทุนหมู่บ้าน 7.9 หมื่นแห่ง รวมกันมากกว่า 30 ล้านคน ดังนั้น จำเป็นจะต้องปรับเพิ่มนโยบาย และเติมเต็มมาตรการบางอย่างเข้าไป
ด้าน นายเซเว่น เสงี่ยมเฉย ผจก.กองทุนฯท้องคุ้ง จ.อยุธยา กล่าวว่า กองทุนฯของตนได้จัดเตรียมข้าวสารที่สีสดๆ จากโรงสีขนาดเล็กของชุมชน จำนวน 300 ถุงๆ ละ 5 ก.ก. รวม 1,500 ก.ก. เอาไว้สำหรับแลกเปลี่ยนกับอาหารทะเล ซึ่งมีทั้งอาหารทะเลสดและแห้ง จากกองทุนฯท้องคุ้ง จ.สมุทรสาคร พร้อมกันนี้ ยังจะเพิ่มสินค้าบางอย่างที่สมาชิกกองทุนฯได้ทำไว้ เช่น ไข่เป็นและอื่นๆ มอบให้เป็นค่าหาพนะที่อุตส่าห์เดินทางมายัง จ.อยุธยา
นอกจากนี้ กองทุนฯท้องคุ้ง จ.อยุธยา ยังรับซื้อและรับจำนำอิฐมอญ ซึ่งเป็นผลผลิตของสมาชิกฯ เพื่อให้สมาชิกฯได้มีเงินทุนหมุนเวียนไว้ใช้ในช่วงที่การก่อสร้างและคำสั่งซื้ออิฐมอญมีน้อยมาก หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สมาชิกสามารถไถ่ถอน และนำออร์เดอร์อิฐมอญไปจำหน่ายได้ก่อน จากนั้น ค่อยนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาชำระคืนให้กับกองทุนฯ ขณะเดียวกัน หากใครต้องการสั่งซื้ออิฐมอญของกองทุนฯ ซึ่งปัจจุบันมีสำรองมากกว่า 7 แสนก้อน จำหน่ายปลีกที่ชุมชนฯ ราคาก้อนละ 0.75 บาท และจัดส่งถึงที่เพิ่มอีก 0.25-0.35 บาท ขึ้นกับความใกล้ไกลของพื้นที่ (ไม่เกิน 200 ก.ม.) หากไกลกว่านี้ ก็จัดส่งให้ได้เพียงแต่ค่าขนส่งอาจแพงขึ้นตามระยะทาง สามารถติดต่อได้ที่ 081-804-7449
“เราได้รับการสนับสนุนจาก สทบ. จัดสรรงบประมาณ 200,000 บาท ในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสร้างท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยจะขยายเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำป่าสักสายนอก จาก อ.นครหลวง ไปยังจุดท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น วัดพนัญเชิงและวัดอื่นๆ รวมถึงดูระบบโลจิสติกส์ หรือการขนสินค้าทางน้ำของ จ.อยุธยา นอกจากนี้ เงินสนับสนุนดังกล่าวจะช่วยให้กองทุนฯ ยกระดับตัวเองจนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับกองทุนฯต่างๆ จากทั่วประเทศ ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูแลงานในโอกาสต่อไป” นายเซเว่น กล่าว
ขณะที่ นายบุญเติม รอดสุกา ปธ.กองทุนหมู่บ้านท้องคุ้ง จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของตนประกอบการนาเกลือ แม้จะเป็นสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของกองทุนฯท้องคุ้ง จ.อยุธยา แต่เพราะกองทุนฯของตน มีการบริหารจัดการที่ดี จนมีผลกำไรมากพอจะไปอุดหนุนด้วยการซื้อสินค้าอาหารทะเล ทั้งสดและแห้งจากกองทุนฯในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าซื้อเกลือจากกองทุนหมู่บ้านท้องคุ้ง จ.สมุทรสาคร โดยซื้อมาในราคาพิเศษ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับข้าวสารสีสดจากกองทุนฯท้องคุ้ง จ.อยุธยา ในครั้งนี้
“เราใช้เงินจำนวน 30,000 บาท ไปนำเพื่อซื้ออาหารทะเลฯจากองทุนที่อยู่ใกล้เคียงกัน และนำมาแลกเปลี่ยนกับข้าวสารสีสดๆ ของกองทุนฯท้องคุ้ง จ.อยุธยา ในราคาใกล้เคียง โดยทั้ง 2 กองทุนฯ ให้ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนสินค้า มากกว่าจะให้ความสนใจเรื่องราคา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี หากกองทุนฯต่างๆ จะนำสินค้าที่ไม่เหมือนกันมาแลกเปลี่ยนกันเอง ทำให้ลดต้นทุนที่ต้องใช้เงินสดในการซื้อสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของสมาชิกฯ ขณะเดียวกัน ยังได้กระจายสินค้าของตัวเองไปยังพื้นที่อื่นๆ” นายบุญเติม กล่าว.