คลังขายตั๋ว P/N ดูดเงินแบงก์ 7 หมื่นล. จ่ายเยียวยาฯเดือนหน้า
คลังส่งหนังสือชี้ชวนขายตั๋ว P/N ให้แบงก์พาณิชย์ล็อตแรก 7 หมื่นล้านบาท อิงดอกเบี้ย BIBOR หวังนำโปะจ่ายเงินเยียวยาฯล็อต 2 ช่วงต้นเดือนหน้า ย้ำ! ครม.ต้องเห็นชอบ “แผนก่อหนี้-แผนใช้เงิน” ในวันอังคารหน้าเสียก่อน ไม่งั้น 14 ล้านคนรับเงินเยียวยาฯอาจรอเก้อ ด้าน “ผอ.สบน.” ยัน! เน้นแผนกู้ในประเทศกว่า 80% ชี้ไม่กระทบวินัยการคลังฯ เหตุปีหน้าทั้งปี กู้แล้วยังไม่ถึง 60% จีดีพี

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มี นายอุตตม สาวยายน รมว.คลัง เป็นประธาน และมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เข้าร่วมประชุมฯ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 เม.ย.2563 ที่กระทรวงการคลัง ว่า ที่ประชุมฯได้มีการปรับแผนในการก่อหนี้ใหม่ ภายหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่มีแผนจะกู้เงินในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 ราว 8 แสนล้านบาทเศษ เพิ่มเป็น 1.497 ล้านล้านบาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่เป็นเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯของกระทรวงการคลัง 6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ สบน.เตรียมเครื่องมือให้รัฐบาลในการกู้เงินไว้แล้ว โดยเมื่อช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ สบน.เพิ่งทำหนังสือชี้ชวน จัดส่งไปยังสถาบันการเงินภายในประเทศ เพื่อเชิญให้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ได้เข้ามาเสนออัตราดอกเบี้ยจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ที่ดีที่สุด โดยอิงอัตราดอกเบี้ย BIBOR ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นสำหรับการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารของตลาดกรุงเทพฯ

“เบื้องต้น สบน.วางแผนจะออกตั๋ว P/N อายุ 4 ปี เพื่อระดมเงินในล็อตแรก 70,000 ล้านบาท ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของตลาด BIBOR ปัจจุบันอยู่ที่ 0.97% แต่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่ดีที่สุดที่ ซึ่งแบงก์พาณิชย์จะมาบิดกันในวันสุดท้ายคือ 28 เม.ย.นี้ น่าจะเป็น “BIBOR บวก” แต่คงบวกไม่มาก” นางแพตริเซีย ย้ำและว่า
เงินที่ได้จากการขาย ตั๋ว P/N 70,000 ล้านบาท รัฐบาลจะนำไปจ่ายเป็นเงินเยียวยาฯล็อตที่ 2 ให้คนจำนวน 14 ล้านคน ในวันที่ 8 พ.ค.นี้ โดยจะต้องได้เงินก่อนวันที่ 5 พ.ค. เพื่อสำรองไว้ในเงินคงคลังของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การจะกู้เงินได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกับแผนงานที่กระทรวงการคลังเสนอไปหรือไม่ โดยเฉพาะแผนการก่อนหนี้และแผนการใช้เงิน หาก ครม.ที่จะประชุมพิจารณาในวันอังคารที่ 28 เม.ย.ไม่ผ่านความเห็นชอบ อาจทำให้การจ่ายเงินเยียวยาฯในรอบที่ 2 ช่วงเดือน พ.ค. ต้องล่าช้าออกไป
นอกจากแผนการ ออกตั๋ว P/N แล้ว รัฐบาลมีแผนจะระดมเงินด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล เน้นการระดมเงินภายในประเทศเป็นหลัก แม้ว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะเปิดช่องให้กู้ยืมเงินได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลตราต่างประเทศ แต่เชื่อว่ากว่าร้อยละ 80 จะเป็นการกู้เงินในประเทศ ส่วนการกู้เงินในต่างประเทศ ขณะนี้ มีตัวแทนของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ติดต่อเข้ามายื่นข้อเสนอบ้างแล้ว ซึ่งคงต้องรอดูผลการระดมเงินในประเทศเสียก่อน
ผอ.สบน. กล่าวอีกว่า แม้รัฐบาลจะกู้ยืมเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยในปีงบประมาณนี้ จะกู้เงิน 6 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท มีแผนจะกู้ในปีงบประมาณ 2564 จากการคาดการณ์พบว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจะมีหนี้สาธารณะ 51.84% ของจีดีพี ขณะที่ หากการกู้เงินส่วนที่เหลือ บวกกับก่อหนี้ตามแผนการก่อหนี้เดิมในปีงบประมาณ 2564 แล้ว จะทำให้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะ 57.96% ของจีดีพี
“ที่บอกกว่ารัฐบาลไม่ควรมีหนี้สาธารณะเกิน 60% ของจีดีพี ที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำได้ดีมาโดยตลอด แต่กับสถานการณ์ในวันนี้ หากจำเป็นรัฐบาลก็อาจจะกู้ได้เกินเพดาน 60% ของจีดีพี ได้นิดหน่อย ต้องเข้าใจว่า การก่อหนี้ หากนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือนำมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ ก็ไม่ถือว่ารัฐบาลทำผิดไปจากวินัยการเงินการคลัง ซึ่งในปีหน้าจะครบรอบ 3 ปี และต้องจัดการประชุมฯ ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนเพดานการก่อหนี้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของประเทศก็ได้” ผอ.สบน. ย้ำ.