คลังย้ำ! ผ่านเกณฑ์เยียวยาเท่าไหร่ จ่าย “5 พัน” เท่านั้น
“โฆษกคลัง” แจง ไม่มีปลายทางตัวเลขจ่ายเงินเยียวยา “5 พัน” ย้ำ! มีคนผ่านเกณฑ์เท่าไหร่ รัฐบาลจ่ายเท่านั้น ระบุ ยอดลงทะเบียนจริง 23.5 ล้านคน แต่ผ่านฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 21.1 ล้านคน มีกลุ่มที่กรอกข้อมูลผิดที่แก้ไขได้ 1.8 ล้านคน เผยกลุ่มสีเทา 6 แสนคนรอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม และเปิดทางให้กลุ่มสีแดงยื่นทบทวนสิทธิ์ ล่าสุด ช่วงเที่ยง 20 เม.ย. พบยื่นทบทวนสิทธิ์แล้ว 7.4 แสนคน
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท ณ วันที่ 17 เม.ย. 2563 ว่า มีการลงทะเบียนรวม 28 ล้านรายการ หักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกไปแล้ว เหลือผู้ลงทะเบียนจริง 23.5 ล้านคน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบและคัดกรองล่าสุด พบผู้ที่ผ่านฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 21.1 ล้านคน ไม่ผ่านฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 1.8 ล้านคน และอยู่ระหว่างการพิจารณา 6 แสนคน โดยกลุ่มผู้ผ่านฐานข้อมูลกรมการปกครองสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มผ่านเกณฑ์ (สีเขียว) 4.2 ล้านคน ซึ่งบางส่วนได้เริ่มต้นโอนเงินเข้าบัญชีหรือพร้อมเพย์ที่ได้ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.แล้ว 3.2 ล้านคน เป็นเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลังได้เร่งโอนเงินเยียวยาต่อเนื่องทุกวันทำการ สำหรับในกลุ่มที่เหลืออีก 1ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยาภายในสัปดาห์นี้
กลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม (สีเทา) 6.3 ล้านคน ซึ่งทยอยได้รับ SMS แจ้งให้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมและได้เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว 4.4 ล้านคน สำหรับส่วนที่เหลืออีก 1.9 ล้านคน ขอให้เร่งเข้าไปกรอกแบบสอบถามออนไลน์ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com (หัวข้อ “ให้ข้อมูลเพิ่มเติม”) เพื่อที่จะได้ทราบผลการคัดกรอง หากผ่านเกณฑ์จะได้รับเงินเยียวยาอย่างรวดเร็ว ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะสามารถไปใช้ช่องทางขอทบทวนสิทธิ์ได้
“กลุ่มนี้ เราอยากขอความร่วมมือให้เร่งจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้โดยเร็ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วเช่น ซึ่งหากพบว่าผ่านเกณฑ์ ก็จะรีบโอนเงินให้ทันที” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
สำหรับ กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ (สีแดง) 10.6 ล้านคน ได้ส่ง SMS แจ้งผลการคัดกรองแล้ว 4.7 ล้านคน ส่วนที่เหลือทั้งหมด จะได้รับ SMS ภายในสัปดาห์นี้ สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรองสามารถขอทบทวนสิทธิ์ได้แล้วที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com (หัวข้อ “ยื่นทบทวนสิทธิ์”) โดยจะเปิดรับผ่านช่องทางออนไลน์นี้เท่านั้น
ทั้งนี้ จากการเปิดให้มีการยื่นทบทวนสิทธิ์ ไม่พบปัญหาในด้านเทคนิคแต่อย่างใด ดังนั้น ขอให้ผู้ที่จะยื่นทบทวนสิทธิ์ เตรียมข้อมูลสำคัญและกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง เช่น อาชีพของผู้ลงทะเบียน สถานที่และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ กระบวนการทบทวนสิทธิ์จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยจะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จริงเพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยยอดการขอทบทวนสิทธิ์วันที่ 20 เม.ย.ณ เวลา 12.00 น. อยู่ที่ 7.4 แสนคน
นายลวรณ กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มไม่ผ่านฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 1.8 ล้านคนนั้น สามารถจะแก้ไขข้อมูลใหม่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาส่วนใหญ่ที่มักเขียนผิดเป็นจำนวนมาก คือ การใช้คำนำหน้าชื่อ หรือยศ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลส่วนนี้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ สระแอ ด้วยการเขียนสระเอ 2 ครั้งติดกัน รวมถึงการกรอกข้อมูลหลังบัตรประชาชา ซึ่ง 2 ตัวเลขแรกจะเป็นอักษาภาษาอังกฤษ ที่หลายมักเขียนเป็นเลขศูนย์ หรือไม่ก็ใส่ขีด (-) ซึ่งไม่ต้องใส่ ทั้งนี้ หากเข้าไปแก้ไขข้อมูล ก็จะเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มที่ผ่านฐานข้อมูลของกรมการปกครองได้ในทันที
ส่วน กรณีกลุ่มสีเทาที่มี 6.3 ล้านคน ซึ่งจะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม และกลุ่มสีแดงอีก 10.6 ล้านคน ที่จะมีบางส่วนยืนขอทบทวนสิทธิ์นั้น หากทั้ง 2 กลุ่มได้รับการตรวจสอบจนสามารถผ่านเกณฑ์ไปเป็นกลุ่มสีเขียวได้แล้ว รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง พร้อมจะโอนเงินเยียวยา 5,000 บาทไปให้โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากพ้นเดือน เม.ย. ก็จะโอนควบกันไปทั้งของเดือน เม.ย.และ พ.ค.
“รัฐบาลยืนยันว่าจะดูแลทุกคนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรอง และไม่เคยกำหนดปลายทางว่าจะเป็น 5 ล้านคน หรือ 9 ล้านคน หากพบว่าการคัดกรองและผ่านเกณฑ์เท่าไหร่ รัฐบาลก็จะช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาททุกคน เป็นเวลา 3 เดือน สิ้นสุดในเดือน มิ.ย.” โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการแถลงข่าวของ นายลวรณ ครั้งนี้ มีข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในจำนวน กลุ่มสีแดง 10.6 ล้านคนนั้น แยกเป็นกลุ่มเกษตรกร 6 ล้านคน กลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม 920,000 คน กลุ่มนักเรียนนักศึกษา 700,000 คน กลุ่มผู้ค้าออนไลน์ 400,000 คน ที่เหลือเป็นคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่ง บางกลุ่ม เช่น กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มประกันสังคม ก็จะมีช่องทางการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่วนที่อยู่นอกเหนือจากนั้น สามารถจะยื่นขอทบทวนสิทธิ์ได้ตามที่ภาครัฐกำหนดแนวทางไว้.