ส.ชลบุรีหนุนกคช.ผุดบ้านปล่อยเช่าโซนอีอีซี
นายกส.อสังหาฯชลบุรี ประเมินตลาดอสังหาฯในโซนอีอีซีหดตัว โควิด-19 ส่งผลผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงที่อยู่อาศัยยากขึ้น แนะดึงกคช.และเอกชน พัฒนาโครงการปล่อยเช่า เพื่อรองรับกลุ่มพนักงานรง.อุตฯเข้าถึงที่อยู่อาศัย
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมต่างๆชะลอตัวลงอย่างมาก ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ เริ่มขยายตัวลดลงอย่างมาก ประกอบกับกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคระดับล่างยิ่งลดต่ำลง ทำให้โอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินค่อนข้างได้ยาก เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง จากปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สูง
นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านม การเกิดขึ้นของโครงการอีอีซี ได้ผลักดันให้มีกลุ่มนักเก็งกำไร เข้ามาลงทุนและกว้านซื้อที่ดินสะสมเพื่อทำราคาขายต่อ ทำให้ราคาที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ราคาปรับตัวแรงถึง 1-2 เท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่โซนใกล้บริเวณสถานี หรือแนวของรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับต้นทุนของที่ดิน และยากต่อการพัฒนาบ้านในราคาที่กลุ่มลูกค้าระดับล่างเข้าถึง
ดังนั้น แนวทางส่งเสริมให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยนั้น โดยรัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อปล่อยเช่า ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ได้ “แนวทางการผลักดันที่อยู่อาศัยเพื่อเช่านี้ เกิดขึ้นในเมืองอุตสาหกรรมในต่างประเทศอย่างแพร่หลาย เปิดโอกาสให้พนักงานโรงงานเช่าอยู่แทนการซื้อ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ดีกว่าการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพราะอัตราค่าเช่าเมื่อเทียบกับค่างวดการผ่อนที่อยู่อาศัย มีความแตกต่างกันอยู่มาก หากเปลี่ยนจากการซื้อเพื่ออยู่อาศัยมาเป็นการเช่าแทน จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยลดลง และเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย จะถูกใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น”
ดังนั้น รัฐบาทอาจดำเนินการผ่านหน่วยงานของภาครัฐที่มีอยู่ เช่น การเคหะแห่งชาติ หรือ (กคช.) ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าสู่โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อเช่าด้วย แต่ที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนพัฒนาโครงการเพื่อเช่าบางส่วน แต่ด้วยอุปสรรคโครงสร้างการจัดเก็บภาษี ที่เปลี่ยนมาเป็นการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ทำให้โครงการเพื่อเช่าถูกเข้าข่ายบ้านหลังที่ 2 ซึ่งจะเก็บจากราคาประเมินมูลค่าทรัพย์สินและรายได้ที่เกิดจากการเช่า ทำให้โครงการเพื่อเช่ามีภาระด้านภาษีเพิ่มมากขึ้น.