กรมศุลฯแจง 7 มาตรการ ช่วย ผปก.ซมพิษโควิดฯ
กรมศุลฯ สรุป 7 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ “ยกเว้นอากรนำเข้าหน้ากากอนามัย-รักษาและวินิจฉัยโรค, อำนวยความสะดวกผ่านพิธีการฯ, รับรองถิ่นกำหนดสินค้า, ตรวจปล่อยและส่งมอบของกลาง, เยียวยาผู้ประกอบการ และโครงการ CUSTOMS ALLIANCES COVID-19” หวังมีส่วนร่วมสกัดไวรัสตัวร้ายแพร่ระบาดในไทย
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผ่าน Facebook live สรุปถึงมาตรการของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การยกเว้นอากรสำหรับสินค้าหน้ากากและวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตสินค้า ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 3) ซึ่งประกาศ ณวันที่ 19 มี.ค.2563 ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับหน้ากาก ชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดตามประเภทย่อย 6307.90.40 และหน้ากากอนามัยเฉพาะหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษบรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยตามประเภทย่อย 6307.90.90 อีกทั้ง ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของใดๆ ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยตามประเภทพิกัดดังกล่าวด้วย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. – 20 ก.ย.2563
ทั้งนี้ การลดอัตราอากรและการยกเว้นอากรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศกรมศุลกากรที่ 61/2563 ลงวันที่ 26 มี.ค.2563 เช่น วัตถุดิบที่ต้องนำไปใช้ผลิตหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัดและหน้ากากกรองฝุ่นฯ ต้องนำไปผลิตภายใน 1 ปี นับจากการนำเข้า หากไม่สามารถหรือมิได้นำไปใช้ผลิตภายใน 1 ปี นับวันนำของเข้า ต้องเสียอากรตามปกติ หรือต้องส่งออกนอกราชอาณาจักร หากจำเป็นต้องใช้ ให้ขออนุมัติขยายเวลาจากกรมศุลกากร
2. การยกเว้นอากรขาเข้าของที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคได้มากขึ้น ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้าเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 10 เม.ย.2563 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. – 30 ก.ย.นี้
3. การอำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับการยกเว้นอากรของบริจาค ตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 11 โดยกรมศุลกากรได้มอบอำนาจให้ ผู้อำนวยการ สำนักงานศุลกากร นายด่านหรือผู้อำนวยการส่วน ที่ได้รับมอบหมายในสังกัด ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี ในการอนุมัติให้ยกเว้นอากรสำหรับการนำเข้าหน้ากากอนามัย ของที่ใช้เกี่ยวกับการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งของอื่นๆ ที่นำเข้ามาบริจาค ภายใต้กฎหมายนี้ เพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา
4. การอำนวยความสะดวกในการแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) สำหรับผู้นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งผู้นำเข้าสามารถแสดงสำเนาภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ประกอบการปฏิบัติพิธีการศุลกากร เพื่อยกเว้นและลดอัตราอากร สำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยได้ออกประกาศกรมศุลกากรที่ 47/2563 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 มี.ค. – 31 พ.ค.2563
5. การตรวจปล่อยสินค้าและการส่งมอบของกลางที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด – 19) ด้วยการเพิ่มความระมัดระวัง เข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้า – ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และหากมีการตรวจพบการกระทำความผิดและคดีถึงที่สุดแล้ว กรมศุลกากรจะส่งมอบให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID – 19) ต่อไป ซึ่งกรมศุลกากรได้มีการส่งมอบของกลางที่เกี่ยวข้องให้ศูนย์ฯดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
6. การเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยผ่อนผันให้ขยายเวลาการนำเข้ามาเป็นชั่วคราว โดยใช้สิทธิ์ ยกเว้นอากร ตามประเภท 3 ภาค 4 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และได้ทำสัญญาประกันไว้ต่อกรมศุลกากร ว่าจะส่งกลับออกไปภายในกำหนด 6 เดือน
“ปกติเคสท์ในลักษณะนี้ กรมศุลกากรจะไม่อนุญาตให้กระทำได้ ซึ่งเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุสุดวิสัยหรือความจำเป็นที่อยู่นอกเหนือการคาดหมายของผู้นำเข้า จึงเห็นควรให้ผ่อนผันการขยายกำหนดเวลาออกไปได้ และผ่อนผันให้ขยายเวลาในการเก็บของกรณีผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ซึ่งสถานการณ์นี้ ถือเป็นเหตุจำเป็นหรือเหตุผลอันควรให้ขยายระยะเวลาการเก็บของในสถานที่ดังกล่าวได้ โดยเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.” โฆษกกรมศุลกากร ระบุ
สำหรับมาตรการสุดท้าย คือ 7. โครงการ CUSTOMS ALLIANCES COVID-19 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกรมศุลกากรได้จัดเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ หรือผู้ประสานงานตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การดูแลของกรมศุลกากร เพื่อเตรียมพร้อมตอบข้อซักถาม ประสานงาน แก้ไขปัญหาในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือฯ ในส่วนของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานศุลกากรในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมศุลกากร 1164 หรือศูนย์บริการศุลกากร (Customs Care Center) โทรศัพท์ 02-667-6000, 02-667-7000 ต่อ 20-5844-8 หรือ website: ccc.customs.go.th.