แห่ยกเลิกลงทะเบียนฯรับ “5 พัน” พุ่ง 6.1 แสนราย
ขู่ได้ผล! พบยอดแห่ยกเลิก “รับเงิน 5,000 บาท” พุ่ง! ชี้ 8 วัน หลังสร้างปุ่ม “ยกเลิกลงทะเบียน” มีคนกลัวทำผิดกฎหมาย “แจ้งเท็จ” บอกเลิกไปแล้วกว่า 6.1 แสนราย เฉลี่ย 7.6 หมื่นคน/วันละ เผยแค่ 2 ชม. ของ 10 เม.ย. มีคนยกเลิกถึง 5,000 คน
ขู่กันจน…ประชาชนหัวหด!
ที่สุด! ความเดือดร้อนที่มีทั่วกัน แต่เข้าถึงโอกาสได้ไม่เท่ากัน เพียงเพราะอยู่ต่างกลุ่มกัน ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งหลายคนจำต้อง “โกหกเพื่อความอยู่รอด” ต่างพากันเข้าไปในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อยกเลิกลงทะเบียน ด้วยเหตุที่พวกเขาใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์มาตรการรับเงินเยียว 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนของกระทรวงการคลัง
ล่าสุด นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) ระบุว่า ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังปรับแก้ไขเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยเพิ่มปุ่มยกเลิกลงทะเบียน เพื่อให้โอกาสกับประชาชนที่อาจจะไม่ได้ตั้งใจกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จ สามารถยกเลิกการลงทะเบียนได้ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. จนถึงขณะนี้ วันที่ 11 เม.ย. รวมเวลา 8 วัน พบว่า มียอดผู้ขอลงทะเบียนยกเลิกฯไปแล้ว กว่า 610,000 คน หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ยมีประชาชนเข้าใช้บริการปุ่มยกเลิกกว่า 76,000 คนต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง
ส่วนหนึ่งเพราะจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง ด้วยการสั่งให้ทีมกฎหมายของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตรวจสอบอย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงการคลังได้ยื่นเอกสารหลักฐานประสานความร่วมมือไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้โพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการเงินเยียวยาโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ทั้งหมด 5 ราย ทำให้ตัวเลขขอยกเลิกการลงทะเบียนพุ่งสูงถึง 5,000 ราย ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ 20.00-22.00 น. ของวันที่ 10 เม.ย.
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ตั้งทีมกฎหมายเพื่อติดตามการเผยแพร่ข้อมูลของบุคลลต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการแจกเงิน 5,000 บาท ในทางที่ไม่สมควร โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 คนที่ได้รับเงิน 5,000 บาทจริง และมีการไปโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่า “ได้เงินมาอย่างที่ไม่ควรได้” ซึ่งกระทรวงการคลังจะทำการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ หากพบว่า ผู้นั้นขาดคุณสมบัติจริง ก็จะทำการระงับการจ่ายเงินในเดือนต่อไป และให้ส่งเงินที่ได้รับ 5,000 แรกคืนให้กับรัฐบาล โดยที่รัฐบาลจะไม่ดำเนินคดี
ส่วนกรณีที่ 2 ผู้โพสต์ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ว่า “ได้รับเงิน 5,000 บาท แต่ไม่ได้รับจริง” ถือเป็นการสร้างความปั่นป่วนกับสังคม กระทรวงการคลังจะดำเนินคดีทางกฎหมายเอาผิดต่อไป การนำเข้าข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป
โดยอ้างอิงข้อมูลทางกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ จาก เพจ ทนายรัชพล ศิริสาคร ประธานชมรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ระบุ การตั้งใจกรอกข้อมูลหลอกลวงรัฐเพื่อหวัง ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาล เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 มีโทษขั้นสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมี ความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 มีโทษขั้นสูงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วน ผู้ที่โพสต์หมิ่นรัฐบาล มีความผิดตามมาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ผู้ที่จะโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเงินเยียวยา 5,000 บาทบนโลกออนไลน์ควรตระหนักผลที่จะตามมาด้วย.