ตั้งทีมล่า “แจ้งเท็จ – ด่า จนท.รัฐ” รับเงินเยียวยา “5 พัน”
ตั้งทีมไล่ล่าแก๊ง “แจ้งข้อมูลเท็จรับเงินเยียวยา 5,000 บาท และด่า จนท.รัฐ” ชี้ผิดกฎหมาย 3 ข้อหาหนัก “แจ้งเท็จ – ฉ้อโกง – หมิ่นประมาท” ด้าน “ชาญกฤช” เตือนสติ! คิดก่อนโพสต์ ยืนยัน ระบบคัดกรอง AI ถือว่าดีสุดแล้ว เหตุคนลงทะเบียนทะลักกว่า 25 ล้านคน
หลังจาก “โฆษกกระทรวงการคลัง” นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ออกมาบอกผ่านศูนย์แถลงข่าวโควิดฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา แนะนำให้ผู้ที่ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ในมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เร่งทำการยกเลิกโดยเร็ว เนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมกันนี้ เขายังระบุด้วยว่า ภายในวันเสาร์ (11) -อาทิตย์ (12) นี้ จะทราบชัดเจนว่าใครบ้างที่จะได้รับสิทธิ์หรือถูกตัดสิทธิ์ในมาตรการข้างต้น
ล่าสุด จากปรากฏการณ์ “ดราม่า” ในโลกโซเชียลแบบรายวัน ภายหลังจากกระทรวงการคลังเริ่มทยอยจ่ายเงินให้กับผู้ได้สิทธิ์รับเงินเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 8 เม.ย. ไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย. นี้ ทำให้ นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) ต้องออกมากล่าวเตือนซ้ำอีกครั้ง ถึงผู้ที่จะโพสข้อความใดๆ ลงในโซเชียล ทั้งเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เกี่ยวกับการได้มาของเงินเยียวยา 5,000 บาท ว่า
“ขอให้คิดให้หนักก่อนโพสต์ เพราะเมื่อโพสต์ลงไปแล้ว จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการเอาผิดทางกฎหมาย หากข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ และได้เงินเยียวยามาจากการให้ข้อมูลเท็จ หรือแม้แต่การดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยคำหยาบคายต่างๆ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 3 ข้อหาหนัก”
พร้อมกับย้ำว่า…อย่าเสี่ยงเพราะได้ไม่คุ้มเสีย! ซึ่งการมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรมีผลต่อการสมัครงาน ใครรู้ตัวทำผิดสามารถใช้บริการปุ่มยกเลิกการลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ เพราะขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนยกเลิกแล้วเกือบ 4 แสนราย
โดยอ้างอิงข้อมูลทางกฎหมายจาก เพจ ทนายรัชพล ศิริสาคร ประธานชมรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ที่ระบุว่า การตั้งใจกรอกข้อมูลหลอกลวงรัฐเพื่อหวังลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาล เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 มีโทษขั้นสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 มีโทษขั้นสูงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่โพสหมิ่นรัฐบาล มีความผิดตาม มาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้ว่าผู้โพสจะลบข้อความไปแล้ว แต่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสามารถดึงข้อมูลที่ลบไปแล้วกลับมาได้
นายชาญกฤช ย้ำว่า ดราม่าที่เกิดขึ้น ทำให้กระแสวิพากวิจารณ์ในโลกโซเชียล เกิดความกังขากับระบบคัดกรองของกระทรวงการคลังเป็นอย่างมาก เพราะมีกลุ่มคนบางส่วนออกมาโพสต์ในทำนองที่ว่า “ไม่เดือดร้อนแต่ได้เงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท” โดยมีข้อความหลากหลาย บางรายติดแฮชแทค อาทิ ระบุว่า…
“ข้อมูลที่ลงทะเบียนเป็นข้อมูลเท็จแต่ได้เงินจริง” “เศษเงินหลังตู้เย็น” “ลงไว้เล่นๆ ไม่เคยหวังจะได้” “ขอบคุณสำหรับค่าโบท้อค” “ยกเลิกแล้วแต่ได้เงิน” ฯลฯ รวมถึง การโพสต์ข้อความด่าทอรัฐบาล “เฮงซวย”
ล่าสุด มีโพสต์อวด “ได้เงิน 2 ทาง” ทั้งจากเงินเยียวยา 5,000 บาท และประกันสังคม
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้แบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ไม่ได้รับเงินแต่บอกว่าได้เงิน ถือว่าสร้างความสับสน จะมอบให้กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ไปช่วยตรวจสอบ เพราะถือเป็นข่าวปลอม (Fake News) มีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์หรือไม่ คาดว่าผลจะออกมาเร็วๆ นี้
และ 2. พวกที่ได้เงินจริง แต่ใส่ข้อมูลที่เป็นเท็จ กรณีนี้ ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงการคลัง จะตรวจสอบย้อนกลับตามข้อมูลที่ลงทะเบียนและดำเนินคดีตามกฎหมาย สำหรับในรายที่ได้เงินแล้ว ทางกระทรวงจะขอให้มีการคืนเงินภายใน 90 วัน พร้อมระงับเงินในเดือนต่อๆ ไป
“ส่วนประเด็นที่ประชาชนเริ่มกังขาเรื่องระบบการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์เยียวยาเงินชดเชย 5,000 บาทนั้น มีประสิทธิภาพหรือไม่ ขอย้ำว่าทางธนาคารกรุงไทยใช้ระบบที่ดีที่สุดในการคัดกรอง และด้วยจำนวนการลงทะเบียนในเว็บไซด์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่มีมากกว่า 25 ล้านคน ทีมงานต้องทำงานแข่งกับเวลาการปรับระบบให้สามารถคัดกรองข้อมูลโดยเร็ว อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดก็น้อมรับและจะนำไปแก้ไข เนื่องจากทางกระทรวงต้องการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ พร้อมจ่ายเงินเยียวยาให้ทันท่วงที” นายชาญกฤช ย้ำ.