คลังชี้! วันหยุดนี้รู้ครบ ใครผ่าน-ตกเกณฑ์รับเงินเยียวยา
ส. (11) – อา.(12) นี้ รู้หมด? ใครผ่าน-ใครตก! เกณฑ์รับเงินเยียวยา ส่วนพวกสีเทา กระทรวงการคลังจะเร่งหาตัวตนโดยเร็ว ผ่านระบบถาม-ตอบออนไลน์ เผยรอบแรกมีจ่ายจริงเฉียด 1.4 ล้านคน ด้าน “โฆษกคลัง” เตือน พวกใช้ข้อมูลเท็จลงทะเบียน รีบถอนตัวโดยเร็ว เหตุทำผิดกฎหมายอย่างแรง ระบุ มีถอนตัวแล้ว 3.7 แสนคน ย้ำ! การเพิ่มฐานคนรับสิทธิ์เป็น 18 ล้านคนๆ ละ 3 เดือนหรือไม่ ขึ้นกับนโยบายรัฐบาล
เหนื่อยหน่อยช่วงนี้ สำหรับ “โฆษกฯคลัง” นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ไม่เพียงต้องเข้าร่วมประชุมกับ ฝ่ายการเมือง (รมว.คลัง) และยังต้องอยู่ในช่วงการแถลงข่าวทกุครั้ง ร่วมกับ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลและในกระทรวงการคลัง
ชนิด…ห้ามห่าง ห้ามป่วย ห้ามลา เด็ดขาด!

ล่าสุด เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งเป็นวันแรกของการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท นายลวรณ ยังมีโปรแกรม “เดินสาย” ชี้แจงความคืบหน้าของมาตรการดังกล่าว ทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล และที่กระทรวงการคลัง
ตัวเลขชัดๆ ของการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาท ณ วันแถลงข่าวฯ มีด้วยกัน 24 ล้านคน แต่ที่ผ่านการคัดกรองจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปแล้ว ราว 1.68 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีการสละสิทธิ์ 20,000 คน และกลุ่มที่ชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อตัว ซึ่งจะต้องไปดำเนินการแก้ไขใหม่ อีก 260,000 คน
ทำให้รอบแรกของจ่ายเงิน ในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย. จะเหลือเพียงเกือบ 1.4 ล้านคน เท่านั้น
แยกเป็นการจ่ายเงินเยียวยาฯ ในวันที่ 8 เม.ย. จำนวน 250,000 คน, วันที่ 9 เม.ย. จำนวน 641,703 และวันที่ 10 เม.ย. อีกจำนวน 503,098 คน รวมยอดจริง 1,396,622 คน
ส่วนคนลงทะเบียนฯที่เหลืออีกกว่า 20 ล้านคน ระบบจะเร่งทำการคัดกรอง โดยวันเสาร์ที่ 11 และอาทิตย์ที่ 12 เม.ย.นี้ ระบบจะทำการตรวจสอบ เพื่อคัดกรองและแยกกลุ่มสีเขียว (ผ่านเกณฑ์และได้รับเงินเยียวยาฯ) สีแดง (ถูกตัดสิทธิ์) และสีเทา (ไปตรวจหาเพื่อยืนยันตัวตนอีกครั้ง) ออกจากกันเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งจะทำให้รู้ว่า ใครบ้างที่จะได้สิทธิ์รับเงินฯ (สีเขียว) ใครบ้างที่จะถูกตัดสิทธิ์ฯ (สีแดง) และใครบ้างที่จะต้องตรวจหาเพื่อยืนยันตัวตน (สีเทา) ต่อไป
“สีเทาจะเหลือน้อยลงทุกวัน เพราะแต่ละวันจะทราบว่าใครในกลุ่มนี้ ที่เป็นสีเขียว และสีแดง ซึ่งคนที่หลุดจากการเกณฑ์คัดเลือกนี้ อาจเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับสิทธิ์ช่วยเหลือจากรัฐบาล ตามมาตรการอื่นๆ ในเร็วๆ นี้” นายลวรณ กล่าว
โดยหลังจากรอบแรกที่จ่ายเงินเยียวยาฯ ในช่วงวันที่ 8-10 เม.ย.แล้ว ในรอบต่อๆ ไป รัฐบาลจะเร่งคัดกรองและโอนเงินเข้าบัญชีโดยเร็ว ซึ่งจะดำเนินการทุกวัน ยกเว้น! วันเสาร์และอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะต้องชัดเจนและแม่นยำ โดยรัฐบาลจะดูแลคนทุกกลุ่ม โดยไม่ให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ส่วนโอกาสจะขยายฐานกลุ่มอาชีพที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินเยียวยาฯ จากเดิม 9 ล้านคน และได้รับเงินเยียวยาฯ เพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน มาเป็นเหลือรับเงินเยียวยาฯ 3 เดือน แต่ขยายเป็น 18 ล้านคนนั้น โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมเงินก้อนนี้เอาไว้แล้ว แต่การจะขยายฐานกลุ่มอาชีพฯเพิ่มจาก 9 ล้านคน เป็น 18 ล้านคนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมจะดำเนินการ เพราะมีเงินรองรับมาตรการอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงินเยียวยาฯ 9 ล้านคนนั้น นายลวรณ ย้ำว่า มาจากฐานข้อมูลในระบบแรงงาน ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานรวมทั้งสิ้น 44 ล้านคน แยกเป็นกลุ่มที่มีงานทำ 38 ล้านคน และที่ไม่ได้ทำงาน (ตกงาน) และกำลังศึกษา รวมกัน 6 ล้านคน
โดยในกลุ่ม 38 ล้านคน ยังแยกออกมาได้อีก แบ่งเป็น 17 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเกษตรกร, 2 ล้านคนเป็นข้าราชการฯ และอีก 11 ล้านคนเป็นพนักงานบริษัทในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะได้รับการดูแลเยียวยาจากหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งแม้กลุ่มเกษตรกร 17 ล้านคน จะไม่มีต้นสังกัด เหมือนกลุ่มข้าราชการและพนักงานประจำ ที่มีรัฐบาล และสำนักงานประกันสังคมคอยดูแล แต่รัฐบาลก็จะมีมาตรการเฉพาะสำหรับกลุ่มเกษตรกรออกมาในเร็วๆ นี้
สำหรับกลุ่มคน “ตกหล่น” ที่เหลืออีก 8 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (มาตรการ 39 และ 40) ลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รัฐบาลพยายามจะสืบหาตัวตนแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“กลุ่ม 8 ล้านคนนี้ คือ กลุ่มเป้าหมายหลักของมาตรการนี้ แต่ก็อาจจะมีการตกหล่นบ้าง ซึ่งเมื่อรัฐบาลเองก็มีนโยบาย “ดูแลครบทุกคน” จึงต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ จนกลายเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาฯครั้งนี้รวมเป็น 9 ล้านคน” โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
สำหรับ การใช้ข้อมูลเท็จในการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนนั้น โฆษกกระทรวงการ เตือนว่า ควรไปยกเลิกโดยเร็ว เพราะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ส่วนผู้ที่ลงทะเบียนฯโดยใช้ข้อมูลจริง แต่ไม่มั่นใจว่าจะผ่านการคัดกรองหรือไม่? ตนขอย้ำว่า ไม่ต้องกังวล การจะผ่านการคัดกรองหรือไม่? ให้ระบบเป็นผู้พิจารณา ซึ่งในสถานการณ์ที่มีคนลงทะเบียนมากถึง 24 ล้านคน จำเป็นจะต้องให้ AI เข้ามาช่วยในการคัดกรอง เพราะเป็นวิธีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมที่สุดแล้ว
อนึ่ง จนถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งขอยกเลิกการลงทะเบียนรับสิทธิ์เงินเยียวยาฯไปแล้ว รวม 370,000 คน.