คปภ.สั่งปรับกติกาขายประกัน รับโควิดฯ – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
เลขาธิการ คปภ. ถกด่วน “บิ๊กสมาคมตัวแทนฯ – นายหน้าประกันภัยไทย” พร้อมเร่งออกกติกาการเสนอขายประกันฯ “ฉบับเฉพาะกิจ” เปิดช่องขายแบบ Digital Face to Face ปรับสถานการณ์โควิด-19 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือ โควิด – 19 และการบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดฯ ทำให้การปฏิบัติตาม ประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และธนาคาร พ.ศ.2561 เกิดข้อขัดข้องในทางปฏิบัติในกรณีช่องทางปกติ กล่าวคือ การเสนอขายในรูปแบบของ Face to Face ไม่สามารถดำเนินการได้
ดังนั้น คณะกรรมการ คปภ. (บอร์ด คปภ.) จึงได้เห็นชอบประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขาย กรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย และธนาคาร ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 พ.ศ. 2563 ตามที่สำนักงานฯ เสนอ โดยให้อำนาจสำนักงานฯ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ ให้แตกต่างจากประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ พ.ศ. 2561 ซึ่งขณะนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้ลงนามแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติประกอบการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ทั้งนั้น เลขาธิการ คปภ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย ผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ โดยมี นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ นายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย นางนภัสนันท์ พรรณนิภา เลขาธิการสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และนางบงกช บวรฤกษ์ นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน เข้าร่วมประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกประกาศลูกเป็นการเฉพาะกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคนกลางประกันภัย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการด้านการประกันภัย โดยในการหารือดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้รับทราบสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะต่างๆ และร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยหาแนวทางการดำเนินงานในสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนด้านการประกันภัย รวมทั้งผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อเยียวยาผลกระทบต่อคนกลางประกันภัย เช่น ขยายระยะเวลาต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทน-นายหน้าประกันภัย ให้ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย งดการเข้าสอบเมื่อมีอาการไอ จาม หรือเป็นไข้ ชะลอหรืองดการเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรฯ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบในการจัดอบรมตามหลักสูตรชะลอหรืองดการจัดอบรม โดยให้สิทธิ์ไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับการอบรมในครั้งต่อไป ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีประชาชนสนใจทำประกันภัยกันมาก แต่ผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่สามารถเจอกันได้โดยตรง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก จึงจำเป็นต้องปรับกติกาที่ใช้ในปัจจุบันให้มีความยืดหยุ่น และนำมาใช้เป็นการชั่วคราวในระหว่างสถานการณ์แพร่ระบาดนี้โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินการ แต่เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด จึงขอความร่วมมือให้สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน ศึกษากรอบแนวทางตามร่างกติกาชั่วคราวนี้ พร้อมรวบรวมสภาพปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงกติกาใหม่ให้มีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพ
ด้าน นางบงกช กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับสมาชิกแล้ว เห็นด้วยว่า ขณะนี้ควรมีการอนุโลมในเรื่องของการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ประชาชนผู้ซื้อประกันภัยสามารถนำส่งเอกสารการทำประกันชีวิตทางออนไลน์ ได้แก่ Line หรือ E-mail หรือใช้ platform โดยแนบลายมือชื่อในการยืนยันการทำประกันชีวิต และนำส่งเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ซื้อประกันภัย เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน โดยบริษัทนำส่งหลักฐานการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้เอาประกันภัยเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งจะช่วยให้มีช่องทางการเสนอขายและประชาชนผู้ซื้อก็สามารถที่จะยืนยันตัวตนได้
ส่วน นายชนะพันธุ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทางสำนักงาน คปภ. ที่ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาปัญหาแก่ประชาชนและคนกลางประกันภัย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งใช้การเสนอขายในหลายช่องทาง เช่น ช่องทางโทรศัพท์ ช่องทางออนไลน์ ช่องทางธนาคาร ไปรษณีย์ หรือ Face to Face จึงอาจมีความแตกต่างและหลากหลาย ประเด็นปัญหาจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อรวบรวมสภาพปัญหาในการปฏิบัติงานจริงให้ครบถ้วน ทางสมาคมฯ จะขอหารือร่วมกับสมาชิก เพื่อนำเสนอสำนักงาน คปภ. และร่วมกันหาแนวทางในการปฏิบัติตามประกาศ คปภ.ฯ โดยเร่งด่วนต่อไป
ขณะที่ นางนภัสนันท์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีการเสนอขายผ่านช่องทางต่างๆ สำหรับผู้เอาประกันภัยรายใหญ่อาจไม่มีปัญหา แต่ในส่วนผู้เอาประกันภัยรายย่อยที่ไม่มีอุปกรณ์ เช่น เครื่องพิมพ์ ก็จะเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม อาจเลือกใช้ช่องทางการยืนยันการทำประกันผ่านทาง Line หรือ E-mail ทั้งนี้ เพื่อให้การรวบรวมสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะเป็นไปโดยครบถ้วน ทางสมาคมฯ จะขอหารือร่วมกับสมาชิกอีกรอบ เพื่อนำเสนอสำนักงาน คปภ. ต่อไป
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงกติกาการกำกับดูแลในส่วนของการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในทางปฏิบัติ และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการให้บริการประชาชน โดยประกาศที่จะใช้ปรับปรุงนี้จะปรับปรุงแนวปฏิบัติที่ใช้ในประกาศปัจจุบันเรื่องการขายแบบ Face to Face ด้วยการขยายความการขายแบบนี้เพื่อให้การขายโดยอาศัยเทคโนโลยี ถือว่าเป็นการขายโดยช่องทาง Face to Face ได้ด้วย หรืออาจเรียกว่า “ประกาศการขายประกันฉบับ Digital Face to Face” เลขาธิการ คปภ. ย้ำและว่า
ประกาศการขายฉบับใหม่นี้ จะใช้เป็นการเฉพาะกิจในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนี้เท่านั้น หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้ว ก็จะได้ประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อประมวลข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วน ก่อนที่จะออกประกาศเฉพาะกิจนี้โดยเร็ว เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่นำระบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ.