ครม.พิเศษ ไฟเขียวงบฯ 1 ลล. ให้ ก.คลังใช้สู้โควิด-19
ครม.นัดพิเศษ “ไฟเขียว” มาตรการเยียวยาเฟส 3 ของกระทรวงการคลัง เผยตั้งกรอบวงเงินสูงถึงร้อยละ 10 ของจีพีดี หรือราว 1 ล้านล้านบาท พร้อมสั่งตัดงบฯแต่ละกระทรวง หนุนมาตรการสู้โควิด-19 ในช่วง 6 เดือน ชี้หากรีดเงินคืนจากแต่ละกระทรวงได้น้อย ก็ต้องออก พ.ร.ก.กู้เงินในประเทศสูงขึ้น ยืนยันไม่กระทบเงินเดือน ขรก.แน่ ระบุ! รอชงให้ ครม.ชุดใหญ่ พิจารณาอีกครั้ง 7 เม.ย.นี้
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อช่วงสายวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นนัดสำคัญ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ แทนการประชุมผ่านวีดิโอ คอนเฟอร์เร้นท์ ที่มักประสบปัญหาความล่าช้าของระบบสัญญาณและอุปกรณ์ที่ใช้
เนื่องเพราะมีวาระพิเศษ คือ “มาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 3” ที่กระทรวงการคลังเสนอให้คณะรัฐมนตรีได้พิจารณา
ส่วนหนึ่ง…เพราะมาตรการที่มีค่อนข้างกว้าง เกี่ยวพันกับกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ มากมาย อีกส่วนหนึ่ง เพราะวงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในรอบนี้สูงมาก ที่สำคัญ มีปมที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฉายเอาไว้ก่อนหน้านี้ 1 วันภายหลังเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นั่นคือ…มาตรการรอบนี้ นอกจากจะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพื่อนำมาเกลี่ยงบประมาณของแต่ละกระทรวงแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอกับงบประมาณในมาตรการชุดใหม่ ที่คาดกันว่าอาจจะมีเม็ดเงินสูงถึงราว 1 ล้านล้านบาท และเป็นเหตุให้ ครม. จำต้องตัดสินใจ “ไฟเขียว” ให้กระทรวงการคลัง ออก พ.ร.ก.กู้เงินภายในประเทศ
ล่าสุด นายสมคิด กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุม ครม.นัดพิเศษ ว่า ที่ประชุม ครม.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับทราบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยออกมาตรการเยียวยาดูแลเศรษฐกิจให้กับคนทุกกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ประกอบด้วย ประชาชน ผู้ประกอบการทุกระดับ เกษตรกร และระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ภาพรวมเศรษฐกิจหยุดชะงักในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องขบายผลในมาตรการไปถึงกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non Bank) เพื่อให้ธุรกิจกลุ่มได้มีแรงไปลดภาระผ่อนบ้านและผ่อนรถของประชาชน
ทั้งนี้ จะมีการออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ เป็น พ.ร.ก.ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ พ.ร.ก.การกู้เงินของกระทรวงการคลัง โดยนำมาดูแลประชาชนและเยียวยาเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งระบบหมุนเวียนเดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น จำเป็นต้องใช้เงินทั้งจากงบประมาณโดยเกลี่ยมาจากหลายกระทรวง
สำหรับวงเงินในมาตรการชุดใหม่ จะต้องใช้เงินประมาณร้อยละ 10 ของจีดีพี หรือราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการเยียวยาเศรษฐกิจเหมือนกับหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 และหากปัญหาการแพร่ระบาดยังยืดเยื้อรัฐบาลพร้อมออกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วงต่อไป
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ระบุว่า มาตรการเยียวยาระยะที่ 3 จะมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม รวมถึงกลุ่ม Non Bank ที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อประเภทต่างๆ ทั้งนี้ หลังจากการออกมาตรการระยะ 1 และ 2 มาแล้ว มาตรการระยะที่ 3 จึงต้องมีแหล่งทุนมารองรับการช่วยเหลือทั้งประชาชนและเอกชนเพิ่มเติมให้เพียงพอ โดยที่กระทรวงต่างๆ เห็นด้วยกับแนวทางเกลี่ยงบประมาณมาใช้ดูแลปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเร่งหารือกับสำนักงบประมาณ และ ธปท. เพื่อให้ได้ข้อสรุปให้ทันเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 7 เม.ย.นี้
“วงเงินเยียวยาเศรษฐกิจในสัดส่วนร้อยละ 10 ของจีดีพีนั้น ไม่ใช่เป็นการกู้เงินทั้งหมด เพราะเป็นการใช้เงินจากงบประมาณ หากเกลี่ยได้มาก เงินกู้ก็จะลดลง โดยจะไม่ให้กระทบต่อรายงานประจำ โดยเฉพาะเงินเดือนของข้าราชการอย่างแน่นอน” รมว.คลัง ระบุและว่า
มาตรการเศรษฐกิจระยะที่ 3 จะยังมุ่งเน้นดูแลแรงงาน ที่เดินทางกลับต่างจังหวัด ทั้งนี้ หากคนกลุ่มนี้ ต้องการทำงานอยู่ที่บ้านเกิด รัฐบาลพร้อมจะส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ ผ่านโครงการเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ.