“สมคิด” ยึดแนวพอเพียงแก้วิกฤติเศรษฐกิจไทย
มาตรการเศรษฐกิจเฟส 3 จ่อออกเร็วขึ้น! “รองฯสมคิด” อิงทฤษฎี “พ่อหลวง ร.9” ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ เน้น “โลคั่ล อีโคโนมี” สร้างงาน-สร้างเงินในท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมดึงเครือข่ายปั้ม ปตท. สร้างศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายสินค้าชุมชน ผ่านแนวทาง “เดลิเวอรี่” ทั่วไทย ด้าน “อุตตม” ย้ำ วงเงินกู้ 2 แสนล้านบาท ไม่ใช่ปัญหาในยาม “ผิดปกติ” ย้ำ ต้องดูวัตถุประสงค์และโครงการที่จะทำก่อน
สถานการณ์เศรษฐกิจของไทย ไม่เพียงได้รับผลกระทบ “ทางตรง” จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)
หากแต่ “ทางอ้อม” ภายหลังมาตรการปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และแหล่งชุมชนต่างๆ กระทั่ง แรงงานในภาคบริการและลูกจ้างชั่วคราว ต่างพากันกลับภูมิลำเนาของตัวเอง อันเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการข้างต้น
ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อมิติต่างๆ มากมาย ชนิดที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำต้องคิดค้นหาแนวทางแก้ไขกันใหม่
และเป็น แนวทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ดูเหมือนครั้งนี้…จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นกระบวนการมากที่สุด!
หลังจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ณ กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายของวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็น...นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง นายเอกนิติ นิตทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร นางแพทริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นายพยง ศรีวณิช กก.ผจก.ธนาคารกรุงไทย นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายฉัตรชัย ศิริไล ผจก.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ฯลฯ
ประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดถึงมากที่สุด! นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมของกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รองรับมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งนี้จะถูกเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ตาม หากจะต้องจัดเตรียมความพร้อมกับมาตรการเศรษฐกิจ ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าคงจะมีออกมาในเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีแนวทางการดำเนินงานอย่างไร? เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่ ปัจจุบัน…ผู้ใช้แรงงาน ทั้งกลุ่มแรงงานภาคบริการและลูกจ้างชั่วคราว ต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเอง เป็นจำนวนมาก
จากมุมมองของ นายสมคิด เห็นว่า…นี่คือโอกาสในวิกฤติ! ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศไทย ต่างพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ผ่านการส่งออกมาตลอด ในขณะที่ เศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน กลับอ่อนแอ
ในเมื่อคนเหล่านี้ กลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเอง แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร จึงทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับพวกเขา ดังนั้น แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นคำตอบที่ทุกฝ่ายจะต้องน้อมนำเอาไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมรรคผลอย่างเป็นรูปธรรม
“ในเรื่องการผลิตและการจำหน่าย ผมได้หารือกับ ปตท. ซึ่งตอนนี้ ลูกค้าของเขาก็น้อยลงไป หากนำศักยภาพที่เขามี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำเลที่ตั้ง ขนาดพื้นที่ที่กว้างขวาง อีกทั้ง ในปั้มน้ำมัน ปตท. ยังมีผู้ให้บริหารรับส่งพัสดุภัณฑ์ อย่าง เคอร์รี่ และไปรษณีย์ไทย ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ ปั้มน้ำมัน ปตท. ซึ่งปกติก็เป็นที่รวมพลของผู้ขายและผู้ซื้ออยู่แล้ว ได้ยกระดับจนกลายเป็นศูนย์กลางและจุดรวมของสินค้าในท้องถิ่นและชุมชน เพื่อกระจายไปยังภูมิต่างๆ ทั่วประเทศ ในลักษณะการจัดส่งแบบ “เดลิเวอรี่” ซึ่งขณะนี้ ทาง ปตท. ก็พร้อมจะให้ความร่วมมืออยู่แล้ว” รองนายกฯสมคิด ระบุและว่า
ไม่เพียงแค่นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่อื่นๆ ที่สนใจ ก็สามารถเข้าร่วมดำเนินงานไปด้วยกัน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ตามแนวพระราชดำริฯ ด้วยการสร้างระบบ “โลคั่ล อิโคโนมี” ขึ้นมาในชุมชนและท้องถิ่นต่างๆ ด้วยการนำงบประมาณและโครงการเข้าไปสนับสนุนการจ้างงานและสร้างรายได้ ให้กับแรงงานที่เดินทางกลับไปภูมิลำเนาของตัวเอง ได้มีกิจกรรมตลอดไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณที่จะใช้ในภารกิจตามมาตรการเศรษฐกิจระยะที่ 3 จะถึง 2 แสนล้านบาทหรือไม่? และเป็นเงินกู้ที่จะต้องออกเป็น พระราชกำหนดหรือไม่? นายสมคิด ตอบว่า ทุกอย่างเป็นไปได้หมด แต่ตอนนี้ เร็วเกินไปที่จะตอบคำถามนี้ คงต้องรอให้มีความชัดเจนเสียก่อน
“พ.ร.บ.ต่างๆ (งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ) ที่รัฐบาลออกมานั้น ล้วนเป็นไปในช่วงที่บ้านเมืองอยู่ในสภาวะปกติ แต่สถานการณ์ตอนนี้ ถือว่าไม่ปกติ ฉะนั้น อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ต้องรอดูสถานการณ์และความชัดเจนอีกที่” นายสมคิด กล่าวและว่า หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเสียเลย ปล่อยในระบบเศรษฐกิจหยุดนิ่งต่อไป นานวันเข้าจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากยิ่งขึ้น
ด้าน นายอุตตม กล่าวว่า เรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่ว่าเราจะกำหนดวัตถุประสงค์ของการใช้เงินอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสถานการณ์นี้ ซึ่งไม่เพียงการเยียวยารายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการภาคธุรกิจเท่านั้น หากยังต้องสร้างความเข้มแข็งที่ยั่งยืนต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นไปในคราวเดียวกันด้วย
“วงเงินกู้ 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่ สามารถทำได้ในหลักการ แต่คงต้องรอความชัดเจนอีกนิดนึง จนกว่าจะได้เห็นว่าตัวเลข (วงเงิน) และเอาไปใช้ทำอะไร (โครงการ)” รมว.คลัง ระบุ.