ชี้ส่งออกไทยดีกว่าคาด เหตุ“ชาติคู่ค้าไม่หดแรง-ยืดหยุ่นสูง”
ฝ่ายวิจัยฯ EXIM BANK ชี้ ส่งออกไทย เดือน ก.พ.63 ไม่ตกแรงอย่างที่หลายฝ่ายคาดไว้ เหตุเพราะชาติคู่ค้าหลักเหยื่อโควิด-19 “จีน-อียู-สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-อิหร่าน” ที่มีสัดส่วนส่งออกรวมเกือบ50% ไม่หดเกินเหตุ อีกเหตุผลคือ ส่งออกไทยยืดหยุ่นมากขึ้น เพราะมีสินค้าหลากหลาย แถมกระจายตลาดส่งออก แม้ไวรัสร้ายยังอาจอยู่อีกนาน
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน. หรือ EXIM BANK) กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) อีกครั้งในรอบกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วิกฤต Hamburger
แน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยเองก็จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การบริโภคและการลงทุน รวมถึงการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ.2563 ออกมาหดตัว 4.5% ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยนอกจากจะได้อานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึง 180% แล้ว มีข้อสังเกตว่าตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในสัดส่วนสูง ทั้งจีน EU สหรัฐฯ ตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นเกือบ 50% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย หดตัวน้อยกว่าที่คาด โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
• ตลาดจีน หดตัว 2% เนื่องจากการส่งออกสินค้าบางส่วนได้รับผลกระทบจาก COVID-19โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่หดตัวสูงจากการปิดด่าน/ปิดท่าเรือ ขณะเดียวกันสินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันก็หดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การหดตัวดังกล่าวเป็นการหดตัวที่น้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด (หลายฝ่ายคาดว่าการส่งออกไปจีนอาจหดตัวสูงจากการที่จีนมีการปิดเมืองในหลายเมือง ซึ่งอาจกระทบกำลังซื้อและ Supply Chain) เนื่องจากได้ปัจจัยสนับสนุนจากสงครามการค้าที่ผ่อนคลายลง ทำให้สินค้าที่เคยถูกกดดันจากปัจจัยดังกล่าวกลับมาขยายตัวดี อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และเครื่องยนต์สันดาปฯ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
• ตลาด EU ขยายตัว 1.2% โดยเฉพาะตลาดอิตาลีและเยอรมนีที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเร่งตัวขึ้นมากยังขยายตัวได้เล็กน้อย จากเครื่องปรับอากาศและเครื่องยนต์สันดาปที่ขยายตัวสูง ทั้งนี้ การที่ตัวเลขการส่งออกของไทยไปตลาด EU โดยรวมยังขยายตัว อาจเป็นเพราะในเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่เกิด Super Spread ในยุโรป ทำให้หากจะดูผลกระทบจาก COVID-19 ในตลาดยุโรป อาจต้องรอประเมินตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมอีกครั้ง (ตลาดสเปนหดตัว 3.3% จากการส่งออกเครื่องปรับอากาศและรถจักรยานยนต์เป็นหลัก)
• ตลาดสหรัฐฯ หดตัวถึง 37% เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนจากการส่งออกอาวุธกลับหลังจากมีการฝึก Cobra Gold อย่างไรก็ตาม หากหักอาวุธออก จะพบว่าตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวถึง 18.3% จากปัจจัยสนับสนุนเดิมที่หลายสินค้าของไทยเข้าไปแทนที่สินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้นจากสงครามการค้า อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำ เครื่องประดับ เหล็ก เป็นต้น
• ตลาดเกาหลีใต้ หดตัวเพียง 1.5% สวนทางกับยอดผู้ติดเชื้อของเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่เร่งตัวขึ้นเร็วที่สุดในโลก แต่เนื่องจากเกาหลีใต้มีมาตรการเด็ดขาดและมีประสิทธิภาพทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยสินค้าที่ช่วยประคองให้ตลาดเกาหลีใต้ไม่หดตัวมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น
• ตลาดญี่ปุ่น หดตัวถึง 11.1% สูงสุดเมื่อเทียบตลาดที่มีผู้ติดเชื้ออันดับต้น ๆ ของโลก โดยสินค้าที่กดดันการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในเดือนกุมภาพันธ์ยังเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวมที่ชะลอลงมาตั้งแต่ช่วงก่อนเกิด COVID-19 อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะไก่แปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทยไปญี่ปุ่น
• ตลาดอิหร่าน ขยายตัวถึง 25.9% จากการส่งออกยางพารา รถยนต์ ผลไม้กระป๋องที่ยังขยายตัวได้สูง เช่นเดียวกับตลาดตะวันออกกลางโดยรวมก็ยังขยายตัวได้ถึง 16.4% โดยตัวเลขการส่งออกไปภูมิภาคดังกล่าวที่ยังขยายตัวสูงอาจยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบจากCOVID-19 มากนัก เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อในตะวันออกกลางเริ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้อาจต้องพิจารณาตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคมอีกครั้ง โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคทั้งซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ อิสราเอล เป็นต้น ที่มียอดผู้ติดเชื้อเร่งขึ้นสูง
ทั้งนี้ แม้ว่าการส่งออกของไทยโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกปี 2563 จะหดตัวเพียง 0.8% แต่ดีกว่าประเทศคู่แข่งสำคัญทั้งเกาหลีใต้ (-1.1%) สิงคโปร์ (-2.9%) ญี่ปุ่น (-1.7%) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 ที่ไม่มีใครทราบว่าจะยุติลงเมื่อใด และยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ชัดเจน กระนั้น ตัวเลขส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ก็สะท้อนได้บางส่วนว่า การส่งออกของไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าอดีต จากการมีสินค้าที่หลากหลายและการกระจายตลาดส่งออกที่ดี.