คปภ.ออกเพิ่ม 10 มาตรการลดผลกระทบโควิด-19
คปภ.ถกภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เร่งออก 10 มาตรการเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้านตัวแทนเอกชน ต่างขานรับแนวทางช่วยเหลือธุรกิจและคนประกันฯ และประชาชน
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึง มาตรการใหม่ ที่จะออกมาดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจาก รคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ว่า เป็นมาตรการที่ผ่านการหารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัย เมื่อวันที่ 12 มี.ค.แล้ว ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 จะออกคำสั่งนายทะเบียน เพื่อปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัย โดยจากเดิมกำหนดที่อัตรามากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 2 เป็นมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 1
มาตรการที่ 2 จะออกคำสั่งนายทะเบียน เพื่อขยายระยะเวลาของมาตรการในคำสั่งนายทะเบียนที่ออกไปแล้วเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 ทั้งทางด้านการประกันชีวิต, ด้านประกันวินาศภัย และด้านคนกลางประกันภัย
มาตรการที่ 3 เพื่อบรรเทาผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
มาตรการที่ 4 จัดทำแนวปฏิบัติ เรื่อง การจัดทำแผนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องสำหรับการการรับมือเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ของบริษัทประกันภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ภาคธุรกิจไปปรับใช้ในการทบทวนและจัดทำแผน BCP ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์แต่ละระดับ
มาตรการที่ 5 ผ่อนผันการจัดส่งรายงานการดำรงเงินกองทุนประจำปี รายไตรมาส และรายเดือน รวมถึงกรอบและนโยบายการบริหารความเสี่ยง และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและแผนธุรกิจของบริษัทออกไปอีกไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่กำหนดให้ส่งรายงาน โดยให้บริษัทขอผ่อนผันต่อนายทะเบียนเป็นรายกรณี
มาตรการที่ 6 ผ่อนผันการยื่นรายงานทางการเงินของบริษัทประกันภัย โดยผ่อนผันให้ครั้งละไม่เกิน 30 วันนับแต่วันครบกำหนด โดยให้บริษัทขอผ่อนผันต่อนายทะเบียนเป็นรายกรณี
มาตรการที่ 7 ผ่อนผันการยื่นงบการเงินและรายงานต่างๆ ของนายหน้าประเภทนิติบุคคล โดยผ่อนผันให้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด โดยให้นายหน้าประเภทนิติบุคคลขอผ่อนผันต่อนายทะเบียนเป็นรายกรณี
มาตรการที่ 8 ให้นายหน้าประกันภัยประเภทนิติบุคคลต้องมีความพร้อมกรณีที่บริษัทประกันภัยคู่สัญญาประกาศใช้แผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
มาตรการที่ 9 ปรับแผนการตรวจสอบ โดยเน้นการตรวจสอบนอกที่ทำการบริษัท (off-site inspection) แทนการเข้าตรวจสอบ ณ ที่ทำการบริษัท (on-site inspection) เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และใช้เทคโนโลยีเข้าร่วมในการตรวจสอบ
และ มาตรการที่ 10 ผ่อนผันให้บริษัทสามารถขออนุญาตปิดที่ทำการติดต่อกับประชาชนบางพื้นที่หรือบางสาขา เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือการป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19
ด้าน นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย เห็นด้วยกับการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคอุตสาหกรรมประกันภัย โดยในช่วงที่มีการระบาดของโรคในระยะแรก ทุกภาคส่วนมีความห่วงใยประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และได้ร่วมกันหารือเพื่อออกมาตรการต่างๆ เพราะการระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ไม่ได้กระทบเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับการผ่อนผันและมีแผนรองรับในการให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่องจึงส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบครบวงจร
ส่วน นายสาระ ล่ำซำ อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่า ขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ.ที่ออกมาตรการด้านประกันภัยในมิติต่างๆ โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน คปภ.ได้มีการปรับเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยไทยด้วยการเปิดกว้างให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนได้หลากหลายสอดคล้องกับลักษณะของความเสี่ยงและภาระผูกพันที่มีต่อผู้เอาประกันภัย ทำให้ภาคธุรกิจประกันภัยปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจกันบ้างแล้ว
ดังนั้น การออกมาตรการด้านประกันภัย เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและภาคธุรกิจประกันภัยรวมไปถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งขณะนี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทางสมาคมประกันชีวิตไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การบริหารต้นทุนของภาคธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น หากสำนักงาน คปภ. พิจารณามาตรการด้านการบริหารต้นทุน หรือการบังคับใช้กฎเกณฑ์มาตรฐานทางบัญชี ไปด้วย ก็จะสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“สำนักงาน คปภ. ห่วงใยประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนมาตรการด้านประกันภัยในการช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเต็มที่ การประชุมครั้งนี้ เป็นการเติมเต็มมาตรการเสริมจากมาตรการที่เคยออกไปก่อนหน้านี้ โดยมุ่งไปที่การเยียวยาภาคธุรกิจประกันภัยและธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ขอย้ำว่ามาตรการที่กำหนดทุกมาตรการเป็นมาตรการระยะสั้น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เกิดความยืดหยุ่นเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งสำนักงาน คปภ.จะ monitor สถานการณ์และ ความเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม” เลขาธิการ คปภ. ย้ำ.