ออมสินเตรียมแผนรับมือ หากมีใบสั่ง “ปิดเมือง”
แบงก์ออมสิน เตรียมรับมือไวรัสโควิด-19 หากรุนแรงถึงขั้น “ปิดเมือง-ปิดประเทศ” ลั่นพร้อมแล้วถึง 90% เผยสั่งการฝ่ายไอทีใน 4 ศูนย์หลัก ทำงานรองรับ “ซูเปอร์วิกฤติ” ตลอด 24 ชม. ชี้จีดีพีที่หดตัวทุก 1% ทำเศรษฐกิจไทยพัง 1.7 แสนล้านบาท ลั่นมีคนสมัคร “รีไฟแนนซ์ – บัตรเครดิตต่างแบงก์” แล้วกว่า 3 หมื่นราย วงเงิน 3,000 ล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวถึงแผนเตรียมการรับมือการแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในระดับสูงสุด หากรัฐบาลจำเป็นจะต้องประกาศ “ปิดเมืองหลวง” (กรุงเทพมหานคร) หรือถึงขั้น “ปิดประเทศ” เช่นที่ รัฐบาลอิตาลี และสหรัฐอเมริกา ทำการประกาศไปก่อนหน้านี้ ว่า ธนาคารออมสินมีแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้มีการกำหนดการวางแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Planning : BCP) รองรับกรณีเกิดสถานการณ์ไม่คาดฝัน อาทิ เกิดจลาจลจากปัญหาการเมือง หรือเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ เช่น น้ำท่วม แผ่นดิน ฯลฯ แม้กระทั่ง เกิดวิกฤตการณ์ด้านเศรษฐกิจ ครอบคลุมปัญหาเงินแข็งหรืออ่อนค่า หรืออัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ทำการทดสอบและลองระบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง
“เราไม่คาดหมายว่าแผน BCP จะต้องนำมาใช้กับสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และคาดหวังว่าเหตุการณ์ความเลวร้ายนี้จะไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เราก็ได้เตรียมการรับมือ หากถึงคราวจำเป็นจริงๆ ซึ่งถึงขณะนี้ เรามีความพร้อมสูงถึง 80-90% ที่จะรับมือกับความเลวร้ายขั้นรุนแรงแล้ว” ผอ.ธนาคารออมสิน ย้ำ และว่า
หากสถานการณ์เลวร้ายถึงขั้น “ปิดเมือง-ปิดประเทศ” ธนาคารออมสินจำเป็นจะต้องให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ หยุดปฏิบัติการทำงานตามคำสั่งของรัฐบาล ยกเว้น! กลุ่มที่ต้องปฏิบัติงานในด้านไอทีเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันธนาคารออมสินมีศูนย์เทคโนโลยี 4 จุด โดยคนกลุ่มนี้ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในศูนย์ฯที่ตัวเองสังกัด เพื่อคอยให้บริการทางการเงินผ่านระบบออนไลน์แก่ลูกค้าและประชาชนต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากไวรัสโควิด-19 นั้น นายชาติชาย คาดการณ์ว่า หากความรุนแรงของสถานการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องนาน 3 เดือน จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ลดลง 0.4% แต่หากขยายวงกว้างนานถึง 6 เดือน จีดีพีจะลดลงมากถึง 1.0% เลยทีเดียว ทั้งนี้ ทุกๆ 1.0% ที่จีดีพอลดลงนั้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียหายไปราว 1.7 แสนล้านบาท
ส่วนมาตรการการช่วยเหลือแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปนั้น ผอ.ธนาคารออมสิน ระบุว่า พร้อมจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนทั้งของประชาชนและภาคธุรกิจ แม้จะทำให้เป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารฯ ลดลงไปจากเดิม โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารฯ เคยคาดการณ์ไว้ว่า ถ้าจีดีพีปี 2563 เติบโตที่ระดับ 3.0 – 3.3% การดำเนินงานของธนาคารฯจะเติบโตราว 1.5 เท่า หรือเติบโตที่ระดับ 5.0% แต่เมื่อต้องคาดการณ์ใหม่ โดยปรับลดจีดีพีเหลือเพียง 2.0 – 2.4% น่าจะทำให้เป้าหมายที่ธนาคารฯคาดหวังจะเห็นการเติบโตของเม็ดเงินรายได้ที่ 80,000 ล้านบาท คงเหลือเพียง 60,000 ล้านบาทเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสินมีโครงการ “รีไฟแนนซ์ – บัตรเครดิต” จากสถาบันการเงินอื่น คิดอัตราดอกเบี้ย 8.5% วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท/ราย จากนั้น มี ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินภาคเอกชนบางแห่ง ปรามาสว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ เรื่องนี้ นายชาติชาย ระบุว่า เหตุที่ธนาคารฯต้องออกมาตรการดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพราะต้องการกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ หันกลับมาดูแลลูกค้าของตัวเอง ด้วยการปลอดเงินต้น ผ่อนปรนการคิดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ฯลฯ ไปจนถึงทำให้การลดชั้นให้ลูกค้าเป็น “หนี้เสีย (เอ็นพีแอล)” เป็นไปได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์จะหันมาใช้บริการรีไฟแนนซ์ฯ กับธนาคารฯ ก็สามารถทำได้ ด้วยการลงทะเบียนได้ที่ www.gsb.or.th ซึ่งจนถึงวันนี้ (13 มี.ค.) มีผู้สนใจยื่นสมัครเข้าโครงการดังกล่าวแล้วกว่า 30,000 ราย คิดเป็นวงเงินราว 3,000 ล้านบาท คาดว่ายังจะมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของธนาคารพาณิชย์เอง.