คปภ.ชู 3 แผนประกันหนุนทุนไทย-ร่วมสู้วิกฤติไวรัส
คปภ.ชง 3 แผนยกระดับตลาดทุนไทย ในส่วนระบบประกันภัย พร้อมขับเคลื่อนระบบประกันภัยรองรับสถานการณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า สำนักงาน คปภ. ได้เสนอมาตรการ/แผนงานเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนพัฒนา ตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 ดังนี้
1.บูรณาการให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาทักษะทางการเงิน โดยได้นำประสบการณ์ของการดำเนินงาน
ในโครงการต่างๆ ที่มีบทบาทและมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย (Insurance literacy) และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านโครงการสำคัญ อาทิ
โครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” ที่ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องในการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ, โครงการประกันภัยข้าวนาปีซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล, โครงการ OIC Gateway ฯลฯ ทั้งนี้ ได้เสนอการส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเงิน ตั้งแต่วัยเด็ก โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุความรู้ด้านการเงินลงในหลักสูตรการเรียนการสอน ครอบคลุมความรู้เรื่องการเงินในประเด็นต่างๆ รวมถึงเรื่องประกันภัยด้วย
2.การศึกษาแนวทางพัฒนา ASEAN micro insurance product เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาตรฐาน สำหรับภูมิภาคอาเซียน โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองเดียวกัน และเบี้ยประกันภัยเท่ากัน สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ทุกที่ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาช่องทางการเสนอขายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด
และ 3.โครงการศึกษาวิจัยการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งได้ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย
สอดคล้องกับสภาพความต้องการและความเสี่ยงและสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในปัจจุบัน อาทิ การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long term care insurance) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในรายละเอียด
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ดำเนินการออกมาตรการในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน 5 ด้าน ดังนี้
1. แถลงการณ์ยืนยันให้เกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันภัยการเดินทางที่มีอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมถึงการคุ้มครองโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับการคุ้มครองโรคที่เกิดจากไวรัสนี้โดยเฉพาะ
2. สร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจประกันภัย โดยจัดทำ Stress test เพื่อทดสอบปัจจัยมหภาค การเคลมจากการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยเพื่อเตรียมมาตรการรองรับ หากสถานการณ์มีความรุนแรง ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ธุรกิจประกันภัยมีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาได้เป็นอย่างดี
3. มีระบบการกำกับดูแล โดยการปรับกฎกติกาต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่จะมีการทบทวนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
4. มีระบบการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ กรณีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย
5. มีระบบการดูแลภาคธุรกิจประกันภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยการออกมาตรการต่างๆ คือ (1) สนับสนุนส่งเสริมและเร่งอนุมัติผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ (2) สนับสนุนส่งเสริมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยศึกษาและพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยว ซึ่งเกิดการเจ็บป่วยจากโรคไวรัสโคโรนา (3) ส่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจประกันภัย โดยจัดทำ Stress test เพื่อทดสอบปัจจัยมหภาค การเคลมจากการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยเพื่อเตรียมมาตรการรองรับ หากสถานการณ์มีความรุนแรง (4 ) เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่า กรมธรรม์ประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันภัยการเดินทางสามารถคุ้มครองหากเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา
โดยต่อมาได้ออก 15 มาตรการ เพื่อร่วมกันแก้ไขและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ จะมีการหารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของการประกันชีวิต และการประกันวินาศภัยต่อไป
“สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของ รมว.คลังอย่างเต็มที่ โดยจะบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ตลอดจนจะเดินหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา COVID-19 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” เลขาธิการ คปภ. ระบุ.