กรมศุลฯ ชี้ อียูเถลิงแชมป์แหล่งนำเข้ายาเสพติด
กรมศุลกากร “เอ็กซ์เรย์เข้ม – ยาเสพติด” เผย “เยอรมัน-ฝรั่งเศส” กลายเป็น “ต้นทาง” นำเข้ามากสุด! มูลค่าจับกุมเฉพาะ ก.พ. พุ่งกว่า 100 ล้านบาท ส่วนผลงานจับกุมงาช้าง ไปไกลถึงขั้นจับเก็บ “ดีเอ็นเอ” จนขยายผลจับกุมได้ทั้งในและนอกประเทศแล้ว
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงผลการจับกุมการกระทำความผิดในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะยาเสพติด ว่า หลังจากได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถจับกุมและขยายผลได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พบว่าการนำเข้ายาเสพติด มีทั้งที่นำติดตัวเข้ามา และส่งผ่านทางไปรณีย์ แต่จากการที่กรมศุลกากรตรวจเข้ม และนำเครื่องเอ็กซ์เรย์มาติดตั้งบริเวณด่านศุลกากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปรษณีย์หลักสี่และหัวลำโพง สามารถจับกุมได้เป็นจำนวนมาก
โดยมีผลงานการจับกุมที่น่าสนใจ คือ การติดตามและจับกุมหญิงไทยลักลอบนำเข้ายาเสพติด ต้นทางจากอินเดีย ปลายทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ กระทั่งพบ ยางกัญชา 9.5 กก. เตรียมแบ่งบรรจุส่งขายทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังไต้หวัน จากนั้น ขยายผลจับกุมตัวการชาวต่างชาติ ได้เคตามีน 6 กก. และกัญชาแห่ง 2 ถุง (135 กรัม)
ต่อมา สืบสวนเพิ่มเติมไปยังห้องพักย่านคลองจั่น ตรวจพบเคตามีนอีก 1 ถุง (135 กรัม) พร้อมจับกุมชายไทยในห้องดังกล่าว 1 คน รวมมูลค่ายาเสพติด 19 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจับกุมชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากเมืองโดฮา การ์ตา ปลายทางกรุงเทพฯ เอ็กซ์เรย์พบโคเคนซุกซ่อนในช่องลับกระเป๋าเดินทางหนัก 2.11 กก. มูลค่า 6.33 ล้านบาท รวมถึงจับกุมยาอีคละสี ผ่านส่วนบริการไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ประเภท 1 Ecstasy 88,345 เม็ด มูลค่า 70.67 ล้านบาท และกัญชาแห้ง 3.89 กก. มูลค่า 778,000 บาท
ด้าน นายกฤษฎา ทองธรรมชาติ ผอ.สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ กรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลปีนี้ พบว่า มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดทางไปรษณีย์มากสุดจากกลุ่มประเทศยุโรป (อียู) โดยเฉพาะจาก เยอรมันและฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม คงไม่เฉพาะแค่ 2 ประเทศนี้ หรือเฉพาะจากกลุ่มอียู ที่จะต้องตรวจเข้มข้น แต่กรมศุลกากรจะตรวจเข้มข้นในทุกช่องทางการนำเข้า และจากประเทศ/ทวีปต่างๆ เนื่องจากศักยภาพของเครื่องเอ็กซ์เรย์ที่มี สามารถจะตรวจจับได้ ไม่ว่าจะนำเข้ายาเสพติดมาในลักษณะใด
ขณะที่ โฆษกกรมศุลกากร ยังกล่าวเพิ่มอีกว่า กรมศุลกากรยังสามารถจับกุมเมล็ดข้าวโพดแห้งลักลอบนำเข้าที่ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก น้ำหนัก 45 ตัน มูลค่า 348,750 บาท รวมถึงเนื้อกระบือแช่แข็งจากอินเดีย มากถึง 7,492 ลัง น้ำหนักรวม 150 ตันเศษ มูลค่ากว่า 22 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนของการขยายผลการตรวจจับการลักลอบนำเข้างาช้างจากต่างประเทศ ถือเป็นข่าวดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ทำการจัดเก็บดีเอ็นเองาช้าง กระทั่ง สามารถจะขยายผลคดีทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากดีเอ็นเองาช้าง จะทำให้รู้ว่ามีที่มาจากไหน และเคยถูกจับกุมมาก่อนหรือไม่ โดยหลังการกรมศุลกากร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้สามารถจับกุมงาช้างผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2557 – ปัจจุบัน มากถึง 46 คดี ปริมาณงาช้างมากกว่า 5.5 ตัน โดยเฉพาะปี 2558 เพียงปีเดียว สามารถจับกุมได้ถึง 5.176 ตัน
“ผลการจากความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศในการจับกุมการลักลอบนำเข้างาช้าง ทำให้ทุกวันนี้ ประเทศไทยหลุดจากบัญชีดำงาช้างไซเตสของหน่วยงานกลางสากล (คณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส) ไปแล้วก่อนหน้านี้” โฆษกกรมศุลกากร ย้ำ.