กรมศุลฯ แจงไม่กักหน้ากาก-ไม่ส่งคนตรวจขายร้านยา
กรมศุลกากรแจง ไม่มีเคย “กัก-ขอปัน” หน้ากากอนามัย 5 ล้านชิ้น ตามที่เป็นข่าวในโลกโซเชียล ย้ำ! พร้อมให้เจ้าของเพจฯโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูล เผยไม่มีนโยบายส่ง จนท. เช็คราคาขายในร้านขายยา ระบุ! ไม่ใช่หน้าที่ แจงนำเข้าล็อตใหญ่สุดก่อนหน้านี้ แค่ 1-2 ล้านตัน พร้อมเตือนคนไทยอย่าหลงกลแก๊งอ้างชื่อกรมศุลฯ หลอกโอนเงิน
หลังเกิดกระแสข่าว “กักตุน – หน้ากากอนามัย” เพื่อส่งออกขายต่างประเทศ และขายล็อตใหญ่ภายในประเทศ โดยเกี่ยวพัน…นักการเมือง ทำให้หลายหน่วยงานรัฐออกมาตรการ “เอาผิด” กับผู้เกี่ยวข้อง
ล่าสุด ช่วงบ่ายวันนี้ (11 มี.ค.) ศูนย์แถลงข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศจะเอาผิด “จับ-ปรับจริง” กับผู้ขายหน้ากากอนามัยที่กักตุนสินค้าและขายเกินราคาที่กำหนด
ช่วงสายวันเดียวกัน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร ประกาศชัด! หากพบ “ผู้ค้าหน้ากากอนามัย” ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ ทำการหลีกเลี่ยงภาษี พร้อมจะดำเนินการเอาผิด “จับ-ปรับ” อย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ค้ารายอื่นๆ ที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง
เช่นกัน การแถลงข่าวประจำเดือนของกรมศุลกากร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 11 มี.ค. ก็มีเรื่องหน้ากากอนามัยที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทย หลังมีกระแสข่าวในเพจสื่อโซเชียลพาดพิงกรมศุลกากร 2 ประเด็นหลัก คือ 1.กรมศุลกากรทำการ “กัก” หน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้า 5 ล้านชิ้น โดยขอแบ่งหน้ากากอนามัยเอาไว้ 2 ล้านชิ้น และ 2.ส่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรไปตรวจสอบบรรดาร้านขายยาต่างๆ ว่ามีการขายเกินราคาหรือไม่? ถ้าพบว่าขายเกินราคาจะทำการ “จับ-ปรับ”
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความจริง ทั้งนี้ กรมศุลกากรไม่มีนโยบายในการ “กัก” หน้ากากอนามัย และไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบร้านขายยา เพราะไม่ใช่ภารกิจของกรมฯ นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ก็ไม่พบว่าในช่วงเดือน ม.ค.- ปัจจุบัน ไม่มีการนำเข้าหน้ากากอนามัยที่มีจำนวนมากถึง 5 ล้านชิ้นแต่อย่างใด
“มากสุดที่มีการนำเข้าเพียงล็อตเดียว คือ 1 ล้านชิ้นในเดือน ม.ค. และ 2 ล้านชิ้นในเดือน ก.พ. ส่วนเดือน มี.ค. ยังไม่มีข้อมูล เนื่องจากเพิ่งผ่านมาได้เพียง 10 วันเท่านั้น” โฆษกกรมศุลกากร ระบุ และว่า หากย้อนไปดูรายละเอียดการนำเข้าและส่งออกหน้ากากอนามัยในช่วงเดือน ม.ค.- ก.พ. พบตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ม.ค.มีการนำเข้าหน้ากาก 145 ตัน และส่งออก 150 ตันเศษ ขณะที่เดือน ก.พ. นำเข้า 71 ตัน ส่งออก 177 ตัน ทั้งนี้ เพราะกลุ่มนำเข้าหน้ากากอนามัย เป็นคนละกลุ่มกับที่ส่งออก
โฆษกกรมศุลกากร ระบุ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด ไม่ได้ห้ามการส่งออก เพียงแต่การส่งออกต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน อย่างไรก็ตาม หลังจากมีกระแสข่าวการกักตุนและขายเกินราคา คาดการส่งออกหน้ากากในเดือน มี.ค. น่าจะลดลงจากเดือนหน้านี้
สำหรับการจัดเก็บภาษีนำเข้าหน้ากากอนามัยนั้น ปัจจุบัน กรมศุลกากรจัดเก็บในพิกัด 6307 ซึ่งใช้กับหน้ากากอนามัยทุกชนิด ในอัตราภาษีร้อยละ 5 ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีจากการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในเชิงการค้า ไม่เกี่ยวกับกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากร ประกาศไม่จัดเก็บภาษีนำเข้า (ร้อยละ 0) ในส่วนของประชาชนที่นำติดตัวมาจากต่างประเทศแต่อย่างใด
“หากจะมีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าหน้ากากเพื่อการค้า จากร้อยละ 5 เป็นเท่าใด? หรือไม่? นั้น ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลที่จะสั่งการลงมา แต่ขณะนี้ กรมศุลกากรยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้าหน้ากากอนามัยเพื่อการค้าที่อัตราร้อยละ 5 เช่นเดิม” โฆษกกรมศุลกากร ระบุ
นอกจากนี้ กรมศุลกากรขอชี้แจงข้อเท็จจริงและแจ้งเตือนไปยังประชาชน กรณีมีการอ้างชื่อกรมศุลกากร เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่ากรมศุลกากรมีบริการ “รับรอง” การนำเข้ากระเป๋าเดินทาง ซึ่งภายในบรรจุสิ่งของมีค่า และ/หรือ สิ่งผิดกฎหมาย แลกกับการตรวจปล่อย โดยไม่ตรวจยึดและอายัด อีกทั้ง ยังอ้างว่าจะต้องโอนเงินค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
รวมถึงการแอบอ้างจัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสครบรอบวันสถาปนา 146 ปีของกรมศุลกากร เพื่อขอรับการสนับสนุนงบโฆษณาจากบริษัทห้างร้านเอกชน ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ กรมศุลกากรขอยืนยันว่า ไม่มีนโยบายดังกล่าวแต่อย่างใด หากสงสัยหรือไม่แน่ใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ 1164 หรืออีเมล 1164@customs.go.th หรือติดต่อด้วยตัวเองที่สำนักงานหรือด่านศุลกากรทุกแห่งในวันและเวลาราชการ
“เราจะให้โอกาสกับผู้ที่แอบอ้างชื่อกรมศุลกากร ให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนกรณีเพจสื่อโซเชียล ก็พร้อมจะเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน หากข้อมูลดังกล่าวเป็นจริง เราก็พร้อมจะนำไปแก้ไขและทำให้ถูกต้องเหมาะสม แต่หากข้อมูลดังกล่าวคาดเคลื่อนไปจากความจริง ก็อยากให้เจ้าของเพจฯ ช่วยแก้ข่าวด้วย” โฆษกกรมศุลกากร ย้ำ.