สรรพากรชี้รายได้ภาษีหด! ต้องปรับเป้าจัดเก็บใหม่
เผย “มาตรการรัฐ-พิษเศรษฐกิจ” จากปมโควิด-19 ทำรายได้กรมสรรพากรหดร่วม 2 แสนล้านบาท ด้าน “เอกนิติ” มั่นใจ แม้จัดเก็บรายได้ภาษีต่ำกว่าประมาณการเดิม แต่เกิน 2 ล้านล้านบาทแน่ ระบุ! ภาษีมูลค่าเพิ่มกลุ่มนำเข้า ก.พ. ติดลบ 1,700 ล้านบาท ฉุดรายได้ 5 เดือนแรก เกินเป้าเพียง 2,500 ล้านบาท ยอมรับรายได้ภาษีลดลงทุกตัว นำทีมโดย “มูลค่าเพิ่ม” ตามมาด้วยภาษีเงินได้ฯ เตรียมหารือ สศค.ปรับลดตัวเลขทั้งปี
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019 ( โควิด-19) ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในหลายประเทศ โดยไทยเป็นหนึ่งในนั้น
ทั้งนี้ จากมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชน ตามที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งประกาศออกมาเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) มีผลอย่างแรงต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ที่ปีงบประมาณ 2563 ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ให้ต้องจัดรายได้ราว 2.116 ล้านล้านบาท
จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ยอมรับว่า “เหนื่อย” เพราะจาก ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จนหลายหน่วยงานทำการปรับลดประมาณการจีดีพีลงเรื่อยๆ และจาก มาตรการต่างๆก่อนหน้านี้ และที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงกับการจัดเก็บรายได้ของกรรมสรรพากร
มีการคาดการณ์ว่า เม็ดเงินรายได้ภาษีจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล น่าจะทำให้รายได้ของกรมสรรพากรหายไปร่วม 2 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
“กรมสรรพากรกำลังเก็บรวบรวมข้อมูลตัวเลขการจัดเก็บรายได้ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและมาตรการของรัฐ ก่อนหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อประเมินการจัดเก็บรายได้ใหม่ อิงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น ส่วนตัวยังเชื่อว่าการจัดเก็บรายได้ของกรรมสรรพากรในปีนี้คงไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจัดเก็บได้เกินเป้าราว 9,000 ล้านบาทเศษ ไปอยู่ที่ 2,009,000 ล้านบาท” อธิบดีกรมสรรพากร ย้ำ
สำหรับมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร นั้น นายเอกนิติ ระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ ทั้งนี้ หากภาคเอกชนมีเงินทุนหมุนเวียนและถือเงินสดในมือมากขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แม้จะทำให้รายได้รายของกรมสรรพากรลดลงไปบ้าง แต่หากทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีหน้า (2564) มีเพิ่มขึ้น สามารถชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปอย่างแน่นอน
โดยในส่วนของการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิม 3% เหลือ 1.5% ระหว่าง 1 เม.ย.- 31 ก.ย.2563 และเหลือ 2% ช่วง 1 ต.ค.63 – 31 ธ.ค.2564 จะทำให้รายได้ของกรมสรรพากรลดลงประมาณ 8.7 หมื่นล้านบาท
ส่วนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยสามารถนำภาระดอกเบี้ยจ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และการช่วยเหลือให้ประกอบการคงการจ้างงานกับลูกจ้างที่มีรายได้/เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งทั่วประเทศมีรวมกันมีมากถึง 7-8 ล้านคน โดยนำรายจ่ายเวินเดือนทั้งหมด ไปหักลดหย่อนภาษีได้อีก 3 เท่า
ทั้งนี้ เมื่อนำไปรวมกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ติดลบอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแนวโน้มการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจข้างต้นเช่นกัน เชื่อว่าจะทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีนี้ต่ำกว่าประมาณเดิมอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม จาการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และการเปิดเกมรุกกับการหลบเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบการบางราย เชื่อว่าจะทำให้มีรายได้มาชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไปจากภาวะเศรษฐกิจและมาตรการของรัฐ
สำหรับการจัดเก็บภาษีการขายสินค้าออนไลน์นั้น กรมสรรพากรจะดูแลในภาพรวม ไม่เฉพาะเจาะจงไปในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งหรือสินค้าใดสินค้าหนึ่ง แม้จะเป็นเรื่องของกระแสข่าวการขายหน้ากากอนามัยที่บูมอย่างมากในโลกออนไลน์ ทั้งนี้ หากมีข้อมูลว่าผู้ประกอบการรายใดหลบเลี่ยงภาษี ก็จะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างระบบความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าในระบบออนไลน์หรืออออฟไลน์
“หากประชาชนทราบข่าวว่ามีผู้ประกอบการรายใด ขายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยหลบเลี่ยงภาษี สามารถแจ้งข้อมูลมายังกรมสรรพากร ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ” อธิบดีกรมสรรพากร ย้ำ.