MPI ม.ค.ขยายตัวมากสุดรอบ 8 เดือน
สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2563 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.43 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 8 เดือน
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงร้อยละ 4.59 หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.43 อุตสาหกรรมหลักที่ส่ง ผลบวกในเดือนมกราคม ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน Hard Disk Drive เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ และน้ำดื่มอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิต
อุตสาหกรรมในเดือนมกราคมปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนประกอบกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผู้ผลิตได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้การส่งออกยังคงขยายตัวได้จากตลาดในประเทศออสเตรเลียเนื่องจากวิกฤติไฟป่าและอุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมทั้งกลุ่มประเทศยุโรปและประเทศเวียดนามที่ความต้องการสินค้าขยายตัวดีเป็นไปตามการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์
Hard Disk Drive การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศมาเลเซียมาประเทศไทยตั้งแต่ เมษายน 2562 และความต้องการใช้ที่มีต่อเนื่อง ซึ่งผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีความจุสูงรองรับข้อมูลที่มีการเติบโตและสอดคล้องกับความต้องการใช้ที่หลากหลาย
เยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.13 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเยื่อกระดาษ กระดาษแข็งและกระดาษคราฟท์ เนื่องจากปีก่อนการหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรของผู้ผลิตบางราย ซึ่งในปีนี้กลับมาผลิตได้ตามปกติ นอกจากนี้มีผู้ผลิตบางรายได้มีการทดลองเร่งการผลิตให้เต็มประสิทธิภาพเครื่องจักร
เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.33 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นจากบริษัทแม่ของผู้ผลิตบางราย เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ และน้ำดื่ม การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.69 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำดื่มและน้ำอัดลมเป็นหลักตามความนิยมที่เพิ่มขึ้นของน้ำอัดลมแบบน้ำตาล 0% และการออกบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดหลากหลายเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มไลน์การผลิตน้ำดื่มของผู้ผลิตบางราย
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมลดลง ได้แก่
รถยนต์ และเครื่องยนต์ การผลิตลดลงร้อยละ 12.80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของตลาดต่างประเทศจากผลกระทบของสงครามการค้า โดยการส่งออกลดลงร้อยละ 20.0 รวมถึงการหดตัวของตลาด ในประเทศที่มีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 8.2 เนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับสินค้าเกษตรราคาตกต่ำส่งผลต่อรายได้เกษตรกรลดลง และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
น้ำตาลการผลิตลดลงร้อยละ 15.19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากพื้นที่ปลูกอ้อยลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงจากปีก่อน อีกทั้งยังพบปัญหาอ้อยแห้งทำให้การหีบสกัดน้ำตาลต่ำกว่ามาตรฐาน ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยมีปริมาณลดลง
น้ำมันปาล์ม การผลิตลดลงร้อยละ 40.68 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบและบริสุทธิ์ จากความแปรปรวนของสภาพอากาศทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมถึงผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดในประเทศ ซึ่งกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศมีน้อยลง และการชะลอตัวของตลาดส่งออกจากการรณรงค์เลิกใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคและน้ำมันเชื้อเพลิง (ไบโอดีเซล) ของสหภาพยุโรป ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตลดลงร้อยละ 9.31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยางแท่งและยางแผ่น ตามปริมาณน้ำยางที่ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคใบร่วงของต้นยางและการงดรับสินค้าจากจีนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายเนื่องจากเทศกาลตรุษจีน น้ำมันปิโตรเลียม การผลิตลดลงเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 2.74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็นหลัก เนื่องจากการใช้เพื่อกิจกรรมการคมนาคมขนส่งลดลง
ทั้งนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศจีนได้หยุดการผลิตในอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของประเทศไทย ซึ่ง สศอ. จะติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างใกล้ชิดต่อไป.