คลังเชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วหลังผ่านวิกฤต

“โฆษกคลัง” ย้ำความมั่นใจของ “อุตตม” เชื่อผ่านพ้นช่วงวิกฤติ ไทยแกร่งได้เร็วแน่ วอน “ภาครัฐ – ภาคเอกชน -ตลาดทุน – สื่อมวลชน” เร่งสื่อสารช่วยประชาชนเข้าใจสถานการณ์จริง
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวสรุปผลการพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการบริหารนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังของ นายอุตตม สาวนายน กับนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันในโครงการตลาดทุนพบภาครัฐกว่า 50 คนจากบริษัทหลักทรัพย์ เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคตลาดทุนรับทราบทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลัง เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์โอกาสของการลงทุนในตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ รมว.คลัง ย้ำว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ชะลอลง อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาค การคลังและการเงินของไทย ยังคงแข็งแกร่ง หนี้สาธารณะ และเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นโอกาสให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการได้อีกมาก เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเมื่อปัญหาต่างๆ คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยจะหันกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการอุปโภคบริโภค และการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และดูแลประชาชนในทุกกลุ่ม เช่น ชุดมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลจากภัยแล้ง มาตรการชิมช็อปใช้ ที่กระตุ้นการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศเพื่อชดเชยผลกระทบจากสงครามการค้า การลดภาระทางการเงินและเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
โดยเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ประกอบด้วยมาตรการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมภายในเดือน มี.ค. 2563 เป็นภายใน มิ.ย. 2563 มาตรการหักค่าใช้จ่ายอบรมสัมมนาภายในประเทศได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง มาตรการหักค่าใช้จ่ายปรับปรุงอาคารถาวร เครื่องตกแต่ง / เฟอร์นิเจอร์ สำหรับผู้ประกอบการโรงแรมได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายจริง และ มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน
รวมถึงมาตรการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง เช่น ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ SME Bank เป็นต้น และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรนวงเงินรวม 123,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ของธนาคารออมสิน SME Bank และธนาคารกรุงไทย
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการที่จะให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย รัฐบาลได้เตรียมการล่วงหน้าเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีเม็ดเงินอัดฉีดลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนวงเงิน 6.4 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมที่จะเบิกจ่ายได้ทันที 3.5 แสนล้านบาท และอีกประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท พร้อมที่จะลงนามในสัญญา ส่วนที่เหลืออีก 2.4 แสนล้านบาทอยู่ระหว่างการเตรียมการ
นอกจากนี้ ในส่วนของงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำ รัฐบาลได้มีนโยบายให้เร่งเบิกจ่าย อาทิ เร่งการจัดอบรมสัมมนาในต่างจังหวัด ซึ่งจะกระตุ้นการใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง และงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้งที่พร้อมจะเบิกจ่าย เพื่อจะช่วยเหลือเกษตรกร
อีกทั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่งบประมาณรัฐบาล 2563 ยังไม่มีผลบังคับใช้ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 9.1 หมื่นล้านบาทในระยะยาว โดยที่รัฐบาลยังยึดมั่นในพันธกิจสำคัญคือการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยต้องเริ่มจากเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างความสมดุลในกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย
“การที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและเตรียมพร้อมเดินหน้าต่อได้ทันทีเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้นั้น ต้องอาศัยความเข้าใจ และความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงตลาดทุน และสื่อมวลชนที่ต้องช่วยกันสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานและการออกมาตรการที่รวดเร็วสอดรับกับสถานการณ์ เพราะความเชื่อมั่นจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ” รมว.คลังกล่าวทิ้งทาย.