คลังเทงบลงทุน 5 แสนล้านบาท พ่วงชุดมาตรการฉุดเศรษฐกิจ
“อุตตม” หวังดันงบลงทุน “หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ” 5 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนสิ้นปีงบฯ63 พร้อมผุดชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปม “ไวรัสโควิด-19” หนุนยาวตั้งแต่ภาคท่องเที่ยว อุปโภคบริโภค เกษตร ภัยแล้ง และการลงทุนเอกชน
“ทิศทางเศรษฐกิจไทย และการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ” หัวข้อปาฐกถาพิเศษ ที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พูดกับนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันโดยตรง ที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ.รัชดาภิเษก เมื่อช่วงสายวันนี้ (20 ก.พ.) ที่ผ่านมา
สาระสำคัญหลักๆ คือ รัฐบาลอยากให้ภาคตลาดทุนได้รับทราบมุมมองและแลกเปลี่ยนโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดทุนไทย ผ่านนโยบายรัฐบาลตามกระทรวงเศรษฐกิจในปี 2563

พร้อมกับยืนยันว่า…แม้ช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2563 จะสั้นลง แต่กระทรวงคลังก็มั่นใจว่า…6 เดือนสุดท้าย ภายหลังงบประมาณเริ่มเบิกจ่ายและใช้ได้จริงนั้น เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 80% ของเงินงบประมาณฯ 3.2 ล้านล้านบาท จะไหลเข้าสู่ระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
โดยงบลงทุนทั้งปีของรัฐวิสาหกิจจำนวน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งรัดเบิกจ่ายเพื่อการลงทุน 1 แสนล้านบาท ที่เหลือ 2.5 แสนล้านบาท จะเร่งเบิกจ่ายและลงทุนโดยเร็วที่สุด หรืออย่างน้อยที่สุด ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ รัฐวิสาหกิจจะต้องเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 80%
นอกจากนี้ ยังจะมีงบลงทุนของส่วนราชการที่ตั้งไว้ 6.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นก้อนแรก 3.5 แสนล้านบาท ที่สำนักงบประมาณคาดว่าสามารถเบิกจ่ายได้ทันที และอีก 9.6 หมื่นล้านบาท พบว่ามีการทำสัญญาว่าจ้างล่วงหน้าไปแล้ว หากงบประมาณเริ่มเบิกจ่ายได้จริง เชื่อว่างบประมาณทั้ง 2 ก้อนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นอย่างดี
ในส่วนงบลงทุนของหน่วยงานรัฐที่เหลืออีกเกือบ 2 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลจะเร่งรัดทำสัญญาว่าจ้างและดำเนินการลงทุนให้ทันก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณนี้

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหม่นั้น รมว.คลัง ระบุว่า จะเน้นดูการ การอุปโภคบริโภค การดูแลภาคการเกษตรและปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังจะมีมาตรการใหม่ๆ เพิ่มเติมออกมาในระยะต่อไปอีก
“หากรวมงบประมาณเพื่อการลงทุน ทั้งในส่วนของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีรวมกันราว 5 แสนล้านบาทในช่วง 2-3 เดือนนับจากนี้ เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการกระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด จนส่งผลกระทบในวงกว้างไม่เฉพาะแค่ภาคการท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจึงเตรียมออกมาตรการมาดูแลเป็นพิเศษ” นายอุตตม ย้ำและว่า ชุดมาตรการทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างช้าภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ.นี้.