อียูเห็นโอกาสในวิกฤติจ่อเพิ่มลงทุนในไทย

“กลุ่มธุรกิจฝั่งอียู” มองเห็นโอกาสในวิกฤติ ยกทีมกว่า 50 ชีวิต เข้าพบ “อุตตม” สอบถามนโยบายรัฐและกฎระเบียบของไทย หวังลุยลงทุนแบบวางยาว โดยไม่สนใจวิกฤตระยะสั้น เผยมีหลายธุรกิจเด่นพร้อมเข้าลงทุนในไทย “รถไฟฟ้า-เวชภัณฑ์-บรรจุภัณฑ์-เศรษฐกิจหมุนเวียน” เชื่อค่ายรถจีเอ็มจากสหรัฐฯทิ้งไทย ไม่กระทบอุตฯผลิตรถยนต์
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังหารือกับคณะสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU – ASEAN Business Council : EU-ABC) เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (19 ก.พ.) ที่กระทรวงการคลัง ว่า คณะของ EU-ABC ที่มาจากภาคธุรกิจกว่า 30 องค์กร รวมกันมากถึง 56 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับแต่ที่เคยมีการหารือร่วมกันมา และทั้งหมดให้ความสนใจต่อการลงทุนในประเทศไทย โดยสอบถามถึงนโยบายของรัฐบาล และกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุน โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินและการคลัง
ทั้งนี้ พวกเขาเน้นมองภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยในอนาคต โดยไม่สนใจกับสถานการณ์ระยะสั้นในปัจจุบัน เนื่องจากเชื่อว่าหากผ่านพ้นปัญหาต่างๆ อาทิ ไวรัสโควิด-19 ไปได้แล้ว ประเทศไทยจะเป็นโอกาสของการลงทุนมากเลยทีเดียว
“ผมเองเป็นฝ่ายบอกพวกเขาว่า นอกจากภาพใหญ่และแนวนโยบายของรัฐบาลแล้ว การดำเนินงานในระยะสั้น โดยเฉพาะมาตรการเฉพาะหน้าต่างๆ ล้วนพุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการลงทุน การสร้างกำลังซื้อ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทย และนักลงทุนต่างชาติเอง”
สำหรับกลุ่มธุรกิจของ EU-ABC ในไทยนั้น รมว.คลัง ระบุว่า ส่วนใหญ่เป็นพวกอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ช-การค้าออนไลน์, อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น แบตเตอรี่, เวชภัณฑ์, บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ไบโอพลาสติก) รวมถึงอุตสาหกรรมการนำวัตถุดิบ/วัสดุเหลือใช้มาผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ หรือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” Circular Economy) เป็นต้น โดยมีบางธุรกิจ/อุตสาหกรรมได้เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอไปบ้างแล้ว ส่วนที่เหลือคาดว่าจะเข้ามาขอรับการลงทุนฯเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้
“ในส่วนของการค้าออนไลน์ เขาสนับสนุนให้เราจัดเก็บภาษีในลักษณะที่เป็นสากล ซึ่งผมก็ยืนยันไปแล้วว่า เรากำลังดำเนินการและระบบภาษีของเราจะเป็นไปในลักษณะที่โลกสากลทำกัน”
สำหรับประเด็นการปิดโรงงานของกลุ่มจีเอ็ม สหรัฐฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในไทย รมว.คลังเชื่อว่าไม่ส่งกระทบต่อภาพลักษณ์และอุตสาหกรรมในไทย เนื่องจากเป็นแนวทางเดียวกับที่ปิดโรงงานในหลายๆ ประเทศ และทางกลุ่ม EU-ABC เองก็ไม่ได้สนใจในประเด็นเหล่านี้ ในทางกลับกันจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ยังคงยืนยันจะดำเนินการในไทยต่อไป ขณะเดียวกันทาง กลุ่ม EU-ABC เอง ก็พร้อมจะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และกระทรวงการคลังก็พร้อมจะใช้มาตรการทางการคลัง (ภาษี) ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น เข้าไปส่งเสริมร่วมกับบีโอไอที่เป็นมาตรการภาษีระยะยาวต่อไป.