“ผช.ขุนคลัง” ยัน! รัฐกู้เงินชดเชยขาดดุลฯทำได้ชัวร์
“ชาญกฤช” ย้ำซ้ำ! รัฐกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท หวังชดเชยขาดดุลงบประมาณถือเป็นขั้นตอนปกติ ระบุ แผนงานนี้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เรื่องการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยการทำสัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ครั้งที่ 1 เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่มีการขยายระยะเวลาเงินกู้ออกไป ภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณ สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี โดยการทำสัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) จากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย วงเงินกู้รวม 20,000 ล้านบาท อายุเงินกู้ 1 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2562 ครบกำหนดชำระต้นเงินกู้ทั้งจำนวน ในวันที่ 24 มิ.ย.2564 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) ระยะ 6 เดือน ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลบด้วยส่วนต่าง (Spread) เฉลี่ยร้อยละ 0.15019 (ศูนย์จุดหนึ่งห้าศูนย์หนึ่งเก้า) ต่อปี
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งงบประมาณปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการพัฒนาของประเทศ เงินส่วนใหญ่ใช้จ่ายเป็นค่าจ้างประจำของข้าราชการ ไม่มีเงินเหลือไปลงทุนพัฒนาประเทศ ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ (Counter-Cyclical Fiscal Policy) มุ่งลงทุนเพื่อการพัฒนา สร้างรายได้ และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มศักยภาพของภาคเอกชนในการลงทุนและการจ้างงาน
“การกู้เงินมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสามารถกระทำได้ เป็นเรื่องปกติ เพราะที่ผ่านมาได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาหลายปี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศต่างแสดงความประสงค์ให้รัฐบาลกู้เงินเป็นจำนวนมาก เพราะรัฐบาลมีความมั่นคงสูง ประกอบกับในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และระบบธนาคารก็มีสภาพคล่องสูง จึงเป็นจังหวะที่เหมาะในการกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้ เพราะถึงแม้จะจัดทำงบประมาณขาดดุลและต้องมีการกู้เงินบ้าง แต่กระทรวงการคลังสามารถดูแลให้อยู่ในกรอบวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด และในอนาคตจะพยายามจัดทำงบประมาณแบบสมดุลโดยเร็วที่สุด” นายชาญกฤช กล่าว.