กรมศุลฯ ผุด “2 กิจกรรมเด่น” ตอบโจทย์รัฐบาล
กรมศุลฯ เตรียมจัดกิจกรรมพิเศษ หนุนนโยบายรัฐบาล เน้นตอบโจทย์ “สังคมไร้เงินสด – กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก” ดีเดย์ 17 ก.พ.นี้ จัดเสวนา “การชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม รายได้อื่นๆ และ/หรือ เงินประกัน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” ก่อนจ่อจัดงาน “ตลาดประชารัฐศุลกากร เพื่อชุมชน” ครั้งที่ 3 ในส่วนกลาง และสัญจรที่ ท่าเรือแหลมฉบัง
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรเตรียมจัดเสวนา “การชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม รายได้อื่นๆ และ/หรือ เงินประกัน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” ตอบสนองนโยบายขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ทั้งในด้านการเบิกจ่าย และการรับชำระเงิน อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลังภาครัฐเพื่อให้รองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment ตามข้อ 78 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ทราบถึงการเปิดใช้ระบบ และยังชำระด้วยเงินสด/เช็ค ให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยการจัดสัมมนาและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการโดยตรง (Direct Approach to target) เชิญชวนให้ชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น
ด้าน นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ เลขานุการกรม ในฐานะ รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า การจัดงานเสวนาจะมีขึ้นในวันที่ 17 ก.พ. 2563 ตั้งแต่เวลา 12.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 16 อาคาร 120 ปี กรมศุลกากร โดยเชิญผู้ประกอบการ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ประกอบการธนาคารและตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการการรับชำระผ่านระบบ Bill Payment สมาคม สมาพันธ์ และหอการค้าต่างๆ สมาชิกพันธมิตรศุลกากร คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา 400 คน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในระบบ Bill Payment ทำให้ผู้ประกอบการสนใจ เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการชำระผ่านระบบดังกล่าว
พร้อมเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับด้านการประหยัดเวลาและการลดต้นทุน ทั้งนี้ นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรให้ความรู้ในระบบดังกล่าวแล้ว ทางกรมฯยังได้เชิญตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมให้ความรู้และเปิดรับสมาชิกใช้บริการในคราวเดียวกัน
“กรมศุลกากรได้ดำเนินโครงการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ทำให้ขณะนี้สามารถส่งรายได้เข้ารัฐและจ่ายเงินคืนผู้ประกอบการครบทั้ง 100% เหลือแค่การรับชำระเงินที่ยังทำได้เพียง 60% ที่เหลือเป็นการใช้แคชเชียร์เช็ค 37% ชำระด้วยเงินสด 2.3% และชำระในรูปแบบบัตรภาษีของทั้ง 3 กรมภาษี ซึ่งในส่วนของการชำระด้วยเงินสดและบัตรภาษี จะค่อยๆ ทยอยเลิกใช้ เหลือก็แต่การชำระด้วยแคชเชียร์เช็ค ซึ่งที่ผ่านมา เคยจัดอบรมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งบางส่วนได้เริ่มเปลี่ยนมาชำระผ่านระบบ Bill Payment และ e-Payment บ้างแล้ว จะมีก็แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางลงมา ซึ่งเราจะใช้เวทีวันที่ 17 ก.พ.นี้ ทำความเข้าใจต่อไป”
รองโฆษกกรมศุลกากร ย้ำว่า แม้การเลิกใช้ระบบแคชเชียร์เช็คที่มีสัดส่วนมากถึง 37% หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียมไปบ้าง แต่เมื่อเทียบกับฐานลูกค้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมา และการรับชำระเงินแทนกรมศุลกากรผ่านธนาคารแต่ละแห่ง ประกอบกับภาพลักษณ์องค์กรและการแข่งขันที่ดีขึ้นนั้น เชื่อว่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ยินดีให้ความร่วมมือต่อไป
นายกรีชา ยังระบุถึงการจัดกิจกรรม “ตลาดประชารัฐศุลกากร เพื่อชุมชน” ว่า กรมศุลกากรยังคงจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนกลางจัดมาแล้ว 2 ครั้ง และยังมีการจัดสัญจรไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดอีกด้วย ทั้งนี้ เตรียมจะจัดกิจกรรมดังกล่าวที่ส่วนกลางเป็นครั้งที่ 3 บริเวณลานประชารัฐ (ข้างตลาดนัดกรมศุลกากร) ซึ่งทุกครั้งของการจัดงานฯ มีผู้ประกอบการสนใจและเสนอตัวขอเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก แต่เพราะมีพื้นที่จำกัด จึงทำให้การจัดงานแต่ละครั้ง สามารถรองรับผู้เข้าร่วมออกร้านได้เพียง 50-70 รายเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการในสัดส่วนใกล้เคียงกันไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้
นอกจากนี้ กรมศุลกากรได้รับแจ้งจาก ด่านศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ว่า พวกเขาเตรียมจะจัดกิจกรรม “ตลาดประชารัฐศุลกากร เพื่อชุมชน” ในเร็วๆ นี้ เพื่อขยายโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการภายในชุมชนได้มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป.