คปภ. ผนึก 8 บ.ประกันฯ ตั้ง “Pool” อุ้มกลุ่มแท็กซี่
“คปภ. – สมาคมประกันวินาศภัยไทย” เคลียร์ปมประกันภัยรถแท็กซี่ ผนึก 8 บริษัทประกันภัย ตั้ง “Pool” รับประกันภัยโดยเฉพาะ ยึดกรมธรรม์ฯภาคสมัครใจ ประเภท 3 กำหนดเบี้ยประกันภัยราคาเดียว 12,500 บาทต่อคัน หวังบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มรถแท็กซี่ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประกันภัย เผยวงเงินคุ้มครองชีวิตร่างกายหรืออนามัยกับบุคคลภายนอก 5 แสน – ไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สิน 400,000 บาท
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงข้อมูลการรับประกันภัยรถแท็กซี่ปี 2561 ว่า จากแท็กซี่จดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก 83,960 คัน แต่มีประกันภัยรถยนต์ 63,536 คัน หรือ 75% ของรถที่จดทะเบียน ซึ่งหากทุกคันมีประกันภัยครบถ้วนจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่ และผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ได้ หรือหากมีผู้ประสบภัยก็จะได้รับ ความคุ้มครองทั้งจากประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และประกันภัยภาคสมัครใจอย่างครบถ้วน
จากการศึกษาข้อมูลต้นทุนรับประกันภัยรถแท็กซี่พบว่า มีอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 92% สูงกว่ารถยนต์ทั่วไป 3 เท่า ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยขาดทุนจากการรับประกันภัยรถแท็กซี่ ประกอบกับเบี้ยประกันภัยใช้รับประกันภัยไม่สอดคล้องต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทประกันภัยหลีกเลี่ยงที่จะรับประกันภัยรถแท็กซี่ ทำให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ประสบกับปัญหาในการทำประกันภัย
อย่างไรก็ตาม จากการร่วมกันกำหนดแนวทางรับประกันภัย เห็นควรให้มีการจัดตั้งกองกลางฯ (Pool) สำหรับการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) โดยมีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมรับประกันภัย ผ่าน Pool 8 บริษัท ได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย, ทิพยประกันภัย, นวกิจประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, เมืองไทยประกันภัย, วิริยะประกันภัย และสินมั่นคงประกันภัย โดมี บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ เข้าร่วมรับประกันภัยต่อ
ทั้งนี้ มอบหมายให้ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ เป็นผู้บริหารกองกลางฯ ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและมีข้อมูลในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม คาดว่าจะสามารถลดปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย กล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้รถแท็กซี่ต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมจากการประกันภัย พ.ร.บ. แต่ข้อเท็จจริง เมื่อผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถแท็กซี่ ได้จัดทำประกันภัยรถยนต์ไว้ ปรากฏว่าเกิดปัญหาการยกเลิกกรมธรรม์ภายหลัง หรือไม่มีบริษัทรับประกันภัย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง
“การที่สำนักงาน คปภ.และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัดทำโครงการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) โดยจัดตั้งเป็นกองกลาง “Pool” ขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของรถ สามารถทำประกันภัยได้ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามารับประกันภัย มีอัตราเบี้ยประกันภัยและความคุ้มครองที่ชัดเจน ทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นได้ รวมถึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการและใช้ระบประกันภัยเข้ามารองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างดียิ่ง” นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ย้ำ
ขณะที่ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สำนักงาน คปภ.ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจำนวน ดังนั้น ช่วงปลายปี 2562 จึงจัดประชุมหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัทสมาชิกผู้รับประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) และกลุ่มเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการรับประกันภัยให้มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้อัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ในการจัดหาผู้รับประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจากการประชุมหารือดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการรับประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
จากการบูรณาการทำงานร่วมกันได้ข้อสรุปว่ากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ประเภท 3 เพื่อรับประกันภัยรถแท็กซี่ โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย 500,000 บาทต่อคน (เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ.) ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอกสูงสุด 400,000 บาทต่อครั้ง ความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลตามเอกสารแนบท้าย ไม่เกินคนละ 50,000 บาท และค่ารักษาพยาบาล ไม่เกินคนละ 50,000 บาท สำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวม 5 คน รวมทั้งการประกันตัวผู้ขับขี่ 500,000 บาทต่อครั้ง โดยมีอัตราเบี้ยประกันภัย 12,500 บาทต่อคัน (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งอัตราเบี้ยประกันภัยดังกล่าว ยังไม่รวมค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยรถแท็กซี่จะทำในลักษณะโครงการประกันภัยรถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ ช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างภาคธุรกิจประกันภัยกับผู้ประกอบการสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันโครงการฯ นี้จะเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ บรรเทาความสูญเสีย และสร้างความอุ่นใจในชีวิตและทรัพย์สินให้กับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยได้รับข้อมูลสำหรับการนำไปใช้ในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยในอนาคตให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงภัยที่แท้จริง รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันภัย.