คลัง-ธปท.อุ้ม SMEs เหยื่อไวรัสโคโรน่า
“รัฐบาล-คลัง” วิ่งวุ่น! ดึงทุกภาคส่วนดันเศรษฐกิจ แก้ปมเครื่องยนต์ทุกตัวอาการ “วูบ” ล่าสุด ดัน บสย. ผนึก 18 แบงก์รัฐ-เอกชน อุ้ม SMEs ผ่านมาตรการใหม่ พร้อมเทเงินค้ำประกัน 6 หมื่นล้านบาท หวังดูดเม็ดเงินเข้าระบบ 1.8 แสนล้านบาท ด้าน “อุตตม” คุยแบงก์ชาติ ช่วยลูกค้า SMEs เหยื่อไวรัสโคโรน่าแล้ว
หนักหนาสาหัสนัก! สำหรับความคาดหวังต่อการจะขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 ให้เติบโตไปอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง
ที่เคยคิดว่าจีดีพีในปี 2562 จะเติบโตที่ 4.1% เอาเข้าจริง…คาดการณ์ล่าสุดของกระทรวงการคลัง เพิ่ง ปรับลดลงเหลือแค่ 2.5% เช่นกัน จีดีพีปี 2563 จากเดิมที่คาดว่าจะโตราว 3.2% ก็ปรับลดเหลือ 2.8%
สาเหตุสำคัญมาจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่าง…ภาคการส่งออก กลายเป็นตัวเลขที่ติดลบ จากระดับ 4.4% ในปีก่อนเหลือ 3.2% ในปีนี้ ด้านการบริโภคภายในประเทศ ภาครัฐอาจจะเพิ่มขึ้น แต่กับภาคเอกชน ก็น่าจะลดลง
แม้ว่าคาดการณ์ล่าสุด จะชี้ว่า การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ปีก่อนเป็น 4.2% และการลงทุนภาครัฐโตจาก 2.1% เป็น 6.5%
แต่หากงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีปัญหาจริง! จนไม่อาจนำมาใช้ในตามกรอบเวลาที่กำหนด ย่อมต้องกระทบกับงบลงทุนของภาครัฐ ส่งต่อไปยังความเชื่อมั่นของภาคเอกชน จนทำให้การลงทุนภาคเอกชน ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังแน่
ยิ่งมาเจอกับปัญหาการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019” ทำให้การท่องเที่ยว ที่เป็นหัวใจสำคัญของกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีปัญหาตามมาทันที และยิ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน ที่ถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศเป็นเวลา 3 เดือน
สารพัดปัญหาที่ถาโถม ทำให้รัฐบาลและกระทรวงการคลัง พยายามหาทางออกในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น
ล่าสุด นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายเป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บรรษัทสินชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กับ 18 สถาบันการเงิน ในมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” เมื่อช่วงสายวันนี้ (30 ม.ค.2563) ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มาหารือกับตน ถึงแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน โดย ธปท.ได้ทำหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ ให้ช่วยเหลือและดูแลลูกค้า SMEs ที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าฯ ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมประสานและให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวคงจะคลี่คลายลงได้บ้าง
“รัฐบาลพยายามจะดูแลทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ SMEs ภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าฯ และจากปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นอยู่” รมว.คลังระบุ และย้ำว่า แม้งบประมาณฯปี2563 จะมีปัญหา แต่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ก็พยายามหาทางออกและวิธีการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาให้มากที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการ รวมถึงงบผูกพัน และงบลงทุนที่ยังไม่ถึงขั้นตอนขอบงการลงนามเซ็นสัญญา ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ โดยใช้งบประมาณของปี 2562
ด้าน นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กก.และผจก.ทั่วไป บสย. กล่าวถึงมาตรการ “ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย” ว่า เบื้องต้น บสย.ได้ร่วมมือกับ 18 สถาบันการเงินจัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี โดยมีเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจให้เดินต่อไปได้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้มีเงินทุนเข้าสู่ระบบราว 1.8 แสนล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการได้ 1.42 แสนราย
“คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs ล็อตแรกกว่าหมื่นราย เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่ช่วย SMEs เสริมสภาพคล่อง เติมเงินทุนหมุนเวียน ช่วย SMEs ที่มีปัญหาผ่อนชำระหนี้ หรืออาจกำลังจะเป็นหนี้ NPL ได้ขยายระยะเวลา ได้เงินทุน ต่อลมหายใจธุรกิจ หรือ ในกลุ่มที่มีศักยภาพ สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ หรือในกิจการที่กำลังต้องการเสริมสภาพคล่อง โดย บสย.และธนาคารพันธมิตร จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เดินหน้าได้ต่อไป” นายรักษ์ กล่าว
สำหรับ SMEs กลุ่มที่กำลังจะถึงทางตัน ชำระล่าช้า หรือกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ บสย. และ 18 สถาบันการเงิน จะช่วย SMEs เปลี่ยนจากการฟ้องมาเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ โดยสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs อีกหลายหมื่นรายสนใจเข้าร่วมโครงการ “บสย. SMEs สร้างไทย ต่อเติม เสริมทุน” วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท สำหรับการขยายระยะเวลาการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับลูกค้า บสย. ที่ใช้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะ 5-7 บสย. ได้ขยายเวลาการค้ำประกันออกไปอีก 5 ปี เพื่อให้ SMEs กลุ่มนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดย บสย.และธนาคารจะร่วมกันช่วยโดยการเข้าสู่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ ร่วมโครงการเต็มจำนวนเป้าหมาย 28,000 ราย.