คลังหดจีดีพีเหลือ 2.8% ย้ำอีก 3ด.ปรับใหม่
คลังรับสภาพ ปรับจีดีพีตรงไปตรงมา หดคาดการณ์จากเดิม 3.2% เหลือ 2.8% ด้าน “โฆษกคลัง” ย้ำ ปรับลดตามสถานการณ์โลก ระบุหากไม่มีปม “งบปี’63 ล่าช้า – ไวรัสโคโรนา” การลงทุนจะดันจีดีพีเขยิบไปที่ 3.05% เผยถ้าทุกอย่างเข้าที่ในอีก 2-3 เดือน ขอปรับคาดการณ์ใหม่ วอนทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน “เศรษฐกิจไทยยังเติบโต”
เป็นแบบจำลองคาดการณ์เศรษฐกิจที่ตรงไปมาที่สุด! สำหรับการปรับลดตัวเลขจีดีพีรอบใหม่นี้ของกระทรวงการคลัง เพราะมีการนำเอาปัญหาความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019 มาขมวดรวมเข้ากับปัจจัยลบอื่นๆ ไมว่าจะเป็นการแข็งค่าของเงินบาท การส่งออกและท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง แม้คาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริโภคภายในประเทศจะดีขึ้น
กระนั้น ตัวเลขจีดีพีปี 2563 ที่ปรับลดจากประมาณการเดิม 3.2% เหลือเพียง 2.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์เฉลี่ย 2.3 – 3.3%) ที่ “โฆษกกระทรวงการคลัง” นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงเมื่อช่วงเที่ยงวันนี้ (29 ม.ค.2563) ต่างสะท้อนภาพความเป็นจริงอย่างมาก
แน่นอนว่า หากไม่ 2 ปัจจัยลบนอกเหนือความคาดหมาย อย่าง…งบประมาณปี 2563 และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ล่ะก็ ภาคการลงทุนที่รัฐบาลหวังให้พระเอกในปีนี้ ก็น่าจะฉุดจีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีก 0.25% และทำให้จีดีพีที่ปรับใหม่ครั้งนี้ ขยับไปอยู่ที่ 3.05%
“อยากแมสเสจถึงประชาชนในลักษณะที่ว่า แม้จะปรับลดจีดีพีลงมาแต่เศรษฐกิจไทยก็ยังเติบโต การปรับลดก็เป็นไปตามสถานการณ์แท้จริงของประเทศ แล้วยังสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกและอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งหากสถานการณ์ในประเทศกลับเข้าสูภาะปกติในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าตัวเลขจีดีพีที่จะปรับใหม่ก็น่าจะสูงขึ้นกว่านี้” โฆษกกระทรวงการคลังระบุ
ในส่วนคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆในปี 2563 กระทรวงการคลังประเมินว่า การบริโภคภาคเอกชนจะอยู่ในระดับ 3.2% ลดลงจากปีก่อนที่เคยอยู่ในระดับ 4.4% การบริโภคภาครัฐ 2.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 1.9% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจาก 2.4% ปีก่อนเป็น 4.2% ในปีนี้ การลงทุนภาครัฐโตจาก 2.1% เป็น 6.5% ส่วนสำคัญมาจากการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
ด้านการส่งออก คาดว่าแนวโน้มสงครามการค้าสหรัฐฯและจีนที่ดีขึ้น จะทำให้การส่งออกของไทยเติบเพิ่มจากปีก่อนที่ -3.2% เป็น 1.0% โดยมีปริมาการค้าเพิ่มขึ้น 0.7% การนำเข้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ -5.4% เป็น 1.7% ปริมาณการค้าเพิ่มเป็น 1.5% จากที่ -4.6% เมื่อก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานขนับเพิ่มขึ้นจาก 0.5% เป็น 0.7% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มจาก 0.7% เป็น 0.8%
สำหรับจีดีพีปี 2562 คาดว่าน่าจะเติบโตที่ระดับ 2.5% ชะลอตัวจากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.1% จากปัจจัยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐหดตัวลงที่ -2.7% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ในปี 2562 มี 39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.2% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายระยะเวลามาตรการยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA)
สำหรับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 โดยเฉพาะโครงการชิมช้อปใช้ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 อยู่ที่ 0.7% ปรับตัวลดลงจากปีก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง
ด้านนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รอง ผอ.สศค. และรักษาการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ “รองโฆษกกระทรวงการคลัง” กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ธ.ค. 2562 ว่า ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ขณะที่การส่งออกสินค้าแม้ว่าจะยังชะลอตัวแต่มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจด้านการผลิตสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัว 4.9% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 12.6% ต่อปี นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัว 1.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งชะลอตัว -18.7% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -17.3% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.0 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าของไทยตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยชะลอตัวที่ -1.8% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัว -22.9% ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว -4.6% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัว -3.1% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -2.1% ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง
ด้านเศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ -1.3 % ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกในหมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ทองคำ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่ม เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัวได้ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย พบว่า หลายประเทศมีการส่งออกชะลอตัวเช่นเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ 2.5% ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 2562 ยังคงเกินดุล 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมี 3.93 ล้านคน ขยายตัว 2.5% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียขยายตัวถึง 12.4% ต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย และจีน ขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัว -2.5% ต่อปี เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -4.3% ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังชะลอตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
นายวุฒิพงศ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศว่า ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.9% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2562 อยู่ที่ 41.3% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ.