ครม.ไฟเขียว 1.1 แสนล.กระตุ้นลงทุนเอกชน
ครม.เห็นชอบแผนกระตุ้นการลงทุนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ผ่าน 3 มาตรการ “ภาษี – ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร – สินเชื่อเพื่อการลงทุนฯ” วงเงินรวมสินเชื่อจากแบงก์รัฐกว่า 1.1 แสนล้านบาท ด้าน “อุตตม” ยอมรับงบประมาณปี’63 อาจเป็นปัญหา แต่เตรียมทางออกรองรับแล้ว ยืนยันเดินหน้าทำร่างงบประมาณฯปี’ 64 แน่ ระบุ อาจต้องปรับลดจีดีพีในปีนี้ หลังสารพัดปัญหาถาโถม จนกระทบภาพใหญ่แผนการลงทุนทั้งปี
สารพัดปัญหาของประเทศไทย ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถาโถมและขมวดรวมเป็นก้อนเดียวกัน นับแต่ปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่ากำหนด ท่ามกลางปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ยังจะมีเรื่องโรคระบาดจากไวรัสตัวใหม่ “โคโรน่า สายพันธุ์ 2019” (2019 – nCov) หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น” กระทบเศรษฐกิจการท่องเที่ยว หลังจาก “ผู้นำจีน” สั่งห้ามทัวร์จีนออกนอกประเทศไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
หลุดจากปัญหาเชิงสังคม รัฐบาลยังต้องเผชิญกับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจอีก
ก่อนหน้านี้ ก็เป็นปัญหา “สงครามการค้า” ที่กระทบการส่งออกไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต่อด้วยประเด็น…เงินบาทแข็งค่า ที่ซ้ำเติมปัญหาส่งออกและการท่องเที่ยว
ยิ่งมาเจอปัญหางบประมาณล่าช้า จากที่สภาผู้แทนราษฎร ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญรับไปวินิจฉัย กรณี “ส.ส.เสียบบัตร-ลงคะแนนเสียงแทนกัน” ขัดกับหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ กระทั่ง อาจมีผลให้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่ง ถึงขั้น “โมฆะ” กระทบสถานภาพและความอยู่รอดของรัฐบาล
สิ่งเหล่านี้ สร้างความกระอักกระอ่วนใจต่อทีมเศรษฐกิจ ทั้งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และทีมเศรษฐกิจในซีกของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาลชุดนี้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นการลงทุน 110,000 ล้านบาทผ่านมาตรการภาษีและสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ ทันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อช่วงวันนี้ (28 ม.ค.2563) ถึงห้องทำงานส่วนตัว พร้อมกันนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการคลัง สอบถามเพิ่มเติมในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ “โฆษกกระทรวงการคลัง” ซึ่งร่วมในเหตุการณ์นี้ กล่าวถึงมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญ โดยย้ำว่า มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 เป็นมาตรการพิเศษที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยถือเป็นยาแรงเพื่อกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ และให้มากถึง 3 ต่อ ประกอบด้วย ต่อที่ 1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ต่อที่ 2 มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และต่อที่ 3 มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ร้อยละ 250 หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งและลงทุนในเครื่องจักรเพื่อให้เช่าเครื่องจักรนั้นแบบลีสซิ่ง โดยให้หักรายจ่ายร้อยละ 100 แรก หรือ 1 เท่าแรกของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรกำหนด และทยอยหักรายจ่ายส่วนเพิ่มเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค.2563
- มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ปัจจุบันเครื่องจักรส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่แล้ว มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าในครั้งนี้จะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรส่วนที่เหลืออีก 146 รายการ โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องเป็นของที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และจะต้องนำไปใช้ในการประกอบกิจการของผู้นำของเข้าเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการจัดจำหน่ายหรือใช้ในบ้านเรือน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลัง มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563
- มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน. หรือ EXIM BANK) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ หรือซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ปีที่ 1 – 2 ร้อยละ 2 และปีที่ 3 – 5 ร้อยละ 4 วงเงินกู้สูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 2563 พร้อมสิทธิประโยชน์อื่นๆ จาก ธสน. เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม Front-end-Free ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน บสย. 4 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การขอสินเชื่อและการพิจารณาสินเชื่อเป็นไปตามที่ ธสน. กำหนด
โฆษกกระทรวงการคลัง ย้ำว่า นอกจากนี้ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังมีสินเชื่ออัตราพิเศษอีกมากกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) กลุ่มธุรกิจ New S-Curve หรือธุรกิจที่เป็น Supply Chain ธุรกิจเกษตรแปรรูป และธุรกิจ Robotics
“กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 จะส่งผลก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 110,000 ล้านบาท สนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.25 ส่วนมาตรการสินเชื่อจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้า ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยี เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการ รวมทั้งจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง ยกระดับกระบวนการผลิตและเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน” นายลวรณ ระบุ
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่หากงบประมาณปี 2563 เกิดความล่าช้า และอาจไม่ทันสิ้นสุดเดือน มี.ค.2563 ที่รัฐบาลสามารถทดลองจ่ายจากงบประมาณปีก่อน ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้หารือกับสำนักงบประมาณอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสำนักงบประมาณมีเงินมากพอจะจ่ายเป็น เงินเดือนข้าราชการ ซึ่งหากพ้นเดือน มี.ค.นี้ รัฐบาลก็มีแนวทางที่จะนำงบประมาณส่วนอื่นมาใช้จ่ายได้ โดยขณะนี้มีอยู่หลายแนวทาง เพียงแต่ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาก่อน
“กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือร่วมกับ รองนายกฯวิษณุ (เครืองาม) มาโดยตลอด ขอย้ำว่าเราได้เตรียมแนวทางเอาไว้รองรับแล้ว ไม่ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เรามีทางเลือกที่เหมาะสมรอให้ดำเนินการอยู่แล้ว สังคมไทยไม่ต้องกังวล โดยเฉพาะในส่วนของเงินเดือนข้าราชการ และในส่วนของงบลงทุน เราก็เตรียมการรองรับเอาไว้จากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการกระตุ้นการลงทุนที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบในวันนี้” รมว.คลังย้ำ และว่า การจัดงบประมาณปี 2564 ยังคงเดินหน้าตามกรอบปฏิทินเดิม เนื่องจากยังไม่มีสัญญาการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากสำนักงบประมาณ
ส่วนเรื่องปัญหาที่มีและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องปรับลดตัวเลขประมาณการจีดีพีหรือไม่? นายอุตตม กล่าวว่า ขนาดธนาคารโลกยังเพิ่งปรับลดประมาณการจีดีพีของโลกเหลือ 3% ต้นๆ กับประเทศไทยก็อาจต้องปรับลดประมาณการจีดีพีลง จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.2-3.3% ก็อาจลดลงมา แต่ทุกอย่างจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
สำหรับการปิดกั้นทัวร์จีน รัฐบาลไทยจะดำเนินการเหมือนที่หลายๆ ประเทศทำหรือไม่? นายอุตตม กล่าวว่า คงไม่ เพราะรัฐบาลมีความสัมพันธ์อันดีกับหลายๆ ประเทศ และเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ดำเนินการประสานงานอยู่ตลอดเวลา
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 4 ว่า ยังคงเป็นแนวทางที่รัฐบาลและกระทรวงการคลัง ต้องเดินหน้าต่อไป แต่ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับ “ชิมช้อปใช้” เวอร์ชั่นต่างประเทศ ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดย “ชิมช้อปใช้” เฟส 4 ยังคงเน้นที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้าคนไทย แต่จะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการดีไซน์รูปแบบของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่าจะแล้วเสร็จเพื่อนำเสนอมายังตนในไม่ช้านี้
“เมื่อทุกอย่างเป็นอย่างเห็น จำเป็นที่เราจะต้องเน้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็สำทับทุกหน่วยงานว่า จะต้องสื่อสารให้สังคมไทยได้รับรู้ทุกความเป็นไปที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ เพื่อให้คนไทยได้รับรู้สถานการณ์ที่แท้จริง ว่าอะไรบ้างที่ได้ทำไปแล้ว และที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยได้รู้และเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ” รมว.คลัง ย้ำสรุป.