กรอ.ดึงโรงงานอุตสาหกรรมร่วมลดฝุ่น PM 2.5
โรงงานอุตสาหกรมแห่เข้าร่วม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้หม้อน้ำ และหม้อต้มน้ำ เพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยฝุ่นละอองPM 2.5 ในโรงงาน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาคเอกชน ได้ลงพื้นที่ ติดตามโรงงานนำร่องในโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และลดฝุ่นละออง PM 2.5 ของโรงงานในพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ติดตาม บริษัท โปลิโฟมอุตสาหกรรม จำกัด เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า กรอ.มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ในหม้อน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนของภาคอุตสาหกรรมให้สมบูรณ์ จะช่วยลดการเกิดฝุ่นละออง โดยเฉพาะลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อมลพิษทางอากาศ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งโครงการฯ นี้ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุการเกิดฝุ่นในภาคอุตสาหกรรม และเป็นการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน
ส่วนการดำเนินการในโครงการฯ มีกิจกรรม เช่น การตรวจวัด ,ประเมิน และวิเคราะห์ประสิทธิภาพด้านความร้อน ,การปรับปรุงการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความร้อน โดยตั้งเป้าการปรับแต่งการเผาไหม้กับโรงงานนำร่องไม่น้อยกว่า50 โรงงาน และเครื่องจักรหรืออุปกรณ์การเผาไหม้ 80 เครื่อง แต่จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รุนแรงในพื้นกรุงเทพฯ
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเกิดความตื่นตัวอยากช่วยลดปัญหา PM 2.5 โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ นี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้แล้ว โดยกรอ. สามารถดำเนินการปรับแต่งเครื่องไป 51 โรงงาน อุปกรณ์การเผาไหม้กว่า 173 เครื่อง นอกจากนี้โรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากเกิดการประหยัดการใช้พลังงาน หรือได้ใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
และเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ามีการใช้งานหม้อน้ำ 1,736 เครื่อง หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน 838 เครื่อง หากสถานประกอบการโรงงานทั้งหมดร่วมกันปรับแต่งการเผาไหม้ตามโครงการฯ นี้ สามารถมั่นใจได้ว่าสถานประกอบกิจการโรงงานจะลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง และลดการปลดปล่อยฝุ่นละออง PM 2.5 จากการเผาไหม้ออกสู่บรรยากาศได้ 1 – 3 % และช่วยประหยัดต้นทุนคิดเป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาทต่อปี.