“สมคิด”หวัง TFFIF หนุน รสก.ลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์
“สมคิด” จี้คลังเร่งรัฐวิสาหกิจลงทุนโครงการเก่า-ใหม่ เผยหากจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงการเก่า ต้องยัดโครงการใหม่เสริม ตั้งเป้าลงทุนปีนี้ 3.45 แสนล้านบาท ด้าน “อุตตม” ย้ำ พร้อมช่วยเคลียร์ทุกปัญหา-อุปสรรค หนุนรัฐวิสาหกิจลงทุนตามแผน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ระบุ พร้อมดัน “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์” รอบใหม่ให้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ มั่นใจนักลงทุนไทย-เทศสนใจ เหตุผลตอบแทนสูง 5-6%
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบถึงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วก่อนหน้านี้ ว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชน จำเป็นที่ภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งรัดการลงทุนในโครงการที่กำหนดไว้ตามแผนงานเดิม โดยสั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่มีผู้แทนอยู่ในรัฐวิสาหกิจต่างๆ พยายามผลักดันโครงการ ทั้งที่มีอยู่แล้วและโครงการใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยจะไม่ให้มีการปรับโครงการเดิม หรือหากจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยน ก็ต้องหาโครงการใหม่ๆ มาทดแทน

“การลงทุนภาครัฐ เป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่การส่งออกชะลอตัวและมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เงินบาทแข็งค่า อีกทั้ง ยังสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคเอกชน ทำให้เอกชนเพิ่มการลงทุนในประเทศ กระทั่ง สามารถผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้” รองนายกฯสมคิด ย้ำ และว่า ส่วนตัวอยากเห็นการนำ “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์” (TFFIF) มาใช้กับการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ หลังจากที่ได้มีการดำเนินการโครงการดังกล่าวไปบ้างแล้ว และได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงถึง 5-6% ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก ทั้งนี้ มอบหมายให้ รมว.คลัง และ ผอ.สคร. ไปหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะนำ “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์” มาใช้กับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพื่อไม่ต้องรอและเป็นภาระกับงบประมาณแผ่นดินในอนาคต
ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า จากนี้ไป กระทรวงการคลัง โดย สคร.จะเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้มากขึ้น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจใด ประสบปัญหาหรือติดขัดจนไม่สามารถจะดำเนินโครงการใดๆ นั้นแล้ว กระทรวงการคลังก็พร้อมจะประสานความร่วมมือ เพื่อลดทอนปัญหาที่มีทั้งหมด ผลักดันให้การดำเนินโครงการนั้นๆ ทำได้ง่ายขึ้น ส่วนโครงการ “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์” นั้น กระทรวงการคลังมีแผนงานอยู่แล้ว และจะพยายามทำให้เกิดขึ้นกับโครงการใหม่ๆ ภายในปีนี้
ด้าน นายประภาส คงเอียด ผอ.สคร. กล่าวว่า สคร.ได้เชิญผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่มีวงเงินลงทุนขนาดใหญ่ 19 แห่ง รวมถึงผู้บริหารบริษัทในเครือเพื่อรับนโยบายในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และให้สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2563 ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีกรอบลงทุนรวม 345,141 ล้านบาท แยกเป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 199,978 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 145,163 ล้านบาท ซึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าบางปะกงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และโครงการแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง
“รองนายกฯนายสมคิด ได้มอบนโยบายแก่รัฐวิสาหกิจให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นในส่วนโครงการที่สามารถดำเนินการได้ก่อน (Front – Loaded) รวมถึงให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายโครงการที่มี Import Content หรือการลงทุนในต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจ 45 แห่ง และบริษัทในเครือให้มีการเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 (ม.ค. – มี.ค. 2563) ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท” ผอ.สคร.ย้ำ และว่า หากนับรวมกับช่วงปลายปีก่อน (พ.ย.-ธ.ค.2562) ที่มีการผลักดันงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจรวม 100,000 ล้านบาทแล้ว จะทำให้มีการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจ ระหว่างเดือน พ.ย.2562 – มี.ค.2563 รวมกันมากกว่า 210,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการ “ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์” ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนมากถึง 5-6% นั้น ผอ.สคร. กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นภาระด้านต้นทุนทางการเงินแก่รัฐวิสาหกิจใดๆ เนื่องจากเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ แม้จะต้องมีภาระการจ่ายดอกเบี้ยบ้าง แต่แลกกับโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในอนาคต ที่จะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ทั้งในเชิงธุรกิจและการดูแลสังคม.