คลังเปิดพันธกิจสางปมโจทย์หินปี’63
คลังเร่งสร้างพันธกิจขับเคลื่อนการทำงาน รองรับโจทย์สุดหินในปี’63 พุ่งเป้า “ลดปมเหลื่อมล้ำ – เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน” เสนอ ค.ร.ม. เดินหน้าขยายผลบังคับใช้ระบบ “อี เพย์เม้นท์ – Big DATA” กับทุกหน่วยงานรัฐ พร้อมสั่งจับตาสถานการณ์รบ “สหรัฐ-อิหร่าน” หวั่นกระทบเศรษฐกิจโลก ชิ่งถึงเศรษฐกิจไทย
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ร่วมเป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ครั้งที่ 1/2563 โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง เมื่อช่วงสายวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา
นายอุตตมาแถลงในเวลาต่อมาว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลก โดยเฉพาะการที่ต้องจับตามองปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านที่อาจจะขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งหมดนำสู่เป้าหมายที่ว่า ในปี 2563 นี้ กระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการอะไร อย่างไร ทั้งในระดับการดำเนินงานตามแผนงานปกติ และแผนงานเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนอย่างเข้มข้น โดยยึดโยงกับเป้าหมายหลักของประเทศ 2 ประการ
1.การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งได้ริเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้ว และมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน และมีหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมธนารักษ์ คลังจังหวัด ฯลฯ ร่วมทำงานเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวไปสู่ภาคการปฏิบัติ ทั้งในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
โดยในปีนี้กระทรวงการคลังจะเร่งรัดดำเนินการอย่างเข้มข้นมากขึ้น สร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรและวิสาหกิจชุมชนของแต่ละท้องถิ่น จากนั้นจะนำไปเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอื่นๆ ต่อไป
และ 2.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการยกระดับขีดความสามารถและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดรับกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสนับสนุนแ ส่งเสริมและพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อให้มีการดำนินงานที่เชื่อมโยงกับชุมชน โดยวันพรุ่งนี้ (7 ม.ค.) กระทรวงการคลังจะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพชุดใหญ่ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการต่อยอดและเชื่อมโยงในการสร้างอาชีพและรายได้ใหม่ๆ ไปสู่ชุมชน
รมว.คลังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีแผนขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ และส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนของเอกชน ทั้งหมดจะมุ่งเน้นไปที่การลงทุนเพื่ออนาคตและปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐวิสาหกิจที่มีแผนการลงทุน ทั้งในและนอกประเทศ โดยยึดตามแผนงานการลงทุนเดิมและผลสัมฤทธิ์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ซึ่ง สคร.จะได้เริ่มดำเนินการนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
สำหรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น รัฐบาลและกระทรวงการคลังถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนไทย เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลดช่องว่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรของประเทศ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งศึกษาหาข้อมูลเพื่อดำเนินการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่นานนัก พร้อมกับพิจารณาเพิ่มเติมสวัสดิการใหม่ๆ เข้าไปในบัตรฯ พร้อมกันนี้ ยังได้ขอให้เร่งดำเนินการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารับผิดชอบโดยตรงและเป็นการถาวร เพื่อดูแลด้านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการเฉพาะ
“ทั้งหมดคือพันธกิจที่กระทรวงการคลังจะขับเคลื่อนในปี 2563 นอกเหนือจากงานประจำที่ต้องทำอยู่แล้ว” รมว.คลังย้ำ และว่า กระทรวงการคลังยังมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนให้รัฐบาลได้ก้าวสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” ผ่านการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล (e Payment) ที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยในปีนี้จะเร่งขยายเครือข่ายและแนวทางการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ ต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภค และร้านค้าต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ ตนจะได้หารือในเวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ เพื่อให้หน่วยงานอื่นๆ ได้ใช้เครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินต่อไป
พร้อมกันนี้ จะเร่งขยายผลในการนำ Big DATA ที่กระทรวงการคลังได้จัดเก็บข้อมูลจำนวนมาก ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงการกำหนดนโยบายของรัฐบาล และการบริการแก่ประชาชน ทั้งนี้ ตนจะเสนอให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งคณะกรรมการด้าน Big DATA ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ อาทิ กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นต้น เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินงานและการนำข้อมูลไปใช้ได้อย่าง ครอบคลุม กระทั่ง สร้างความเชื่อมโยงในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่อไป.