“สมคิด” ยันส่งออกปีนี้แตะ5%
“สมคิด” มั่นใจส่งออกทั้งปี ขยายตัวแตะ 5% หลังยอดส่งออกเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมทะลุ 2 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัว 9.2% สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 5 ปี ชี้สัญญาเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การส่งออกของไทยเดือนมี.ค.60 ที่ขยายตัวได้ถึง 9.2% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดี และเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว ส่งผลให้การส่งออกไทยมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยยังเชื่อว่าทั้งปี 60 นี้การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากน้อยเพียงใดนั้น ต้องขึ้นกับการลงทุนของภาคเอกชนด้วย เพราะปัจจัยอื่นต่างก็ปรับตัวดีขึ้นแล้ว เช่น ราคาสินค้าเกษตรก็ปรับตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มดีมาตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นใน ขณะนี้ จึงถือว่าไม่มีเรื่องใดที่น่าเป็นห่วง ซึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจเชื่อว่า GDP ไตรมาส 1/60 จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าไตรมาส 4/59 ขณะเดียวกันเชื่อว่า GDP ไตรมาส 2/60 ก็จะเติบโตดีขึ้นกว่านี้ เนื่องจากเริ่มเห็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะทยอยออกมา
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายสมคิด มองว่า เรื่องความเสี่ยงมีอยู่ด้วยกันทุกประเทศ ไม่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว ซึ่งรัฐบาลจะไม่ประมาท และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมองว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ต้องหาแนวทางที่ทำให้การเติบโตกระจายลงไปถึงเศรษฐกิจฐานรากด้วย เพราะเมื่อระดับเศรษฐกิจฐานรากมีเม็ดเงินมากพอ ก็จะทำให้มีรายได้มากขึ้น และส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งระบบ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.60 กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มี.ค.60 โดยการส่งออก มี.ค. มีมูลค่า 20,888 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.2% จากตลาดคาด 9.22% ขณะที่การนำเข้า มี.ค.60 มีมูลค่า 19,271 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 19.3% ส่งผลให้ดุลการค้า มี.ค. เกินดุล 1,617 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากการส่งออกที่ขยายตัวดังกล่าว ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสแรก ของปี 60 ขยายตัวได้ 4.9% มีมูลค่า 56,456 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่การนำเข้า ไตรมาส 1/60 ขยายตัว 14.8% มีมูลค่า 52,404 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และดุลการค้าเกินดุล 4,053 ล้านดอลล์
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.60ที่มีมูลค่าสูงกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.2% นั้น ถือว่าเป็นการปรับตัวสูงกว่าเกณฑ์ เฉลี่ย 5 ปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเป็นส่วนใหญ่ตลอดทั้งปี ขณะที่การส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่ขยายตัวได้ 4.9% นั้น ถือว่าเป็นการขยายตัวได้สูงสุดในรอบกว่า 4 ปี หรือ 17 ไตรมาส ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของการส่งออกที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการค้าโลกปีนี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)
“การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.นี้ ถือว่าเติบโตสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 5 ปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเป็นส่วนใหญ่ตลอดทั้งปี นอกจากนี้มูลค่าการค้าของไทยยังถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก”
โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก (สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป) ขยายตัว 10.5% ส่วนตลาดศักยภาพสูง (อาเซียน, CLMV, จีน, เอเชียใต้) ขยายตัว14.5% ขณะที่ตลาดศักยภาพรอง (ออสเตรเลีย, ตะวันออกกลาง) หดตัว 1.0%
ส่วนการนำเข้าในเดือนมี.ค.60 ที่ขยายตัวสูงถึง 19.3% นั้น พบว่ามีการขยายตัวสูงจากการนำเข้าในส่วนของสินค้าทุน ตลอดจนวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มที่ดี และในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ในระดับที่แข็งค่านั้น ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการจะใช้ช่วงจังหวะนี้ในการนำเข้าสินค้าทุน ตลอดจนวัตถุดิบในการผลิตเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง รวมทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของผู้ประกอบการเองด้วย
“ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสที่บาทแข็งค่านี้ นำเข้าสินค้าทุน ตลอดจนเครื่องจักร และวัตถุดิบในการผลิตต่างๆ มาใช้เพื่อช่วยเพิ่ม productivity” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถเติบโตได้ 5% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งกระทรวงฯ จะเร่งดำเนินการทุกรูปแบบเพื่อให้การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้มากที่สุด
ทั้งนี้ การส่งออกตามเป้าหมายที่ 5% อยู่บนสมมติฐานภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์ และราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ จับตา 16 ประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นั้น ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้มีการนัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนรวมทั้งภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือกับผลกระทบทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น และในกลางสัปดาห์นี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์จะนัดประชุมเพื่อเตรียมรวบรวมข้อมูลอีกครั้ง อย่างไรก็ดี แนวทางหนึ่งที่ไทยพอจะใช้รับมือกับมาตรการที่สหรัฐจะนำออกมาใช้ในการกีดกันทางการค้า คือ ไทยจะต้องเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ให้มากขึ้น โดยไม่หวังพึ่งพาเพียงแต่ตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น
“เราจะต้องขยายตลาดส่งออกไปตลาดอื่นๆ มากขึ้น ไม่พึ่งพาตลาดสหรัฐ หรือตลาดเก่าๆ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วไม่ว่าทรัปม์จะออกมาตรการมาในรูปแบบไหน”