รัฐมอบ“รสก.ดีเด่น”ดันหนุนจีดีพีปี’63
“นายกฯประยุทธ์” ย้ำ รัฐวิสาหกิจคือกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย มีรายได้รวมเฉียด 5 ล้านล้านบาท มีค่าใช้จ่ายกว่า 4 ล้านล้านบาท มีเงินลงทุนปีละ 3 แสนล้านบาท สร้างจ้างงานกว่า 3 แสนคนมแถมส่งรายได้รัฐ ปีละ 7% ของรายได้ทั้งหมด ตั้งเป้าใช้รัฐวิสาหกิจร่วมหนุนจีดีพีปี 63 ดันเติบโตที่ 3.7% ด้าน สคร.จัดมอบ 10 รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2562 ภายใต้ “พลังรัฐวิสาหกิจไทย สู่มิติใหม่ด้วยดิจิทัล” หน่วยงานไหนได้รางวัลอะไร? เช็คด่วน!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เย็นวานนี้ (23 ธ.ค.2563) ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด “พลังรัฐวิสาหกิจไทย สู่มิติใหม่ด้วยดิจิทัล” พร้อมทั้งมอบรางวัลและมอบนโยบายให้แก่รัฐวิสาหกิจ โดยมีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจร่วมงานกว่า 800 คน เข้าร่วมงานฯ ซึ่งการจัดงานในปีนี้มีการมอบรางวัลทั้งสิ้น 10 ประเภทรางวัล
พล.อ.ประยุทธ์มอบถ้วยรางวัลและกล่าวแสดงความยินดีแก่รัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2562 ก่อนย้ำว่า รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ มีรายได้รวมเกือบ 5 ล้านล้านบาท หรือราว 30% ของ GDP ในปี 2561 มีค่าใช้จ่ายกว่า 4 ล้านล้านบาท มีเงินลงทุนปีละ 3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงการลงทุนของหน่วยงานของรัฐอื่นรวมกันทั้งหมด มีการจ้างงานรวม กว่า 3 แสนคน โดยปีที่ผ่านมา สามารถนำส่งรายได้แผ่นดินได้ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 7% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด
นอกจากนี้ กิจกรรมของรัฐวิสาหกิจยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศและความมั่นคงด้านการคลัง รัฐวิสาหกิจยังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ ที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ ทั้งไฟฟ้า ประปา การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร ได้อย่างเท่าเทียมมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2563 สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์การเติบโตของ GDP อยู่ระหว่าง 2.7 – 3.7 % โดยหวังเป้าหมายที่ 3.7% อย่างไรก็ตาม ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มและไม่สามารถพึ่งการส่งออกได้มาก รัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะของรัฐวิสาหกิจให้เร่งรัดการลงทุนให้รวดเร็ว เร่งการใช้จ่ายและการลงทุนให้ได้ตามแผนหรือเร็วกว่าแผน รวมทั้งหาโครงการลงทุนเพิ่มเติมด้วย รัฐวิสาหกิจอาจพิจารณาหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งตัวในช่วงนี้ เร่งใช้จ่ายและการลงทุนโครงการต่างๆ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคต พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ รองรับการเติบโตของประเทศ ทั้งเรื่องไฟฟ้า ประปา การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ การสื่อสาร เป็นต้น โดยในช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจจำนวนมาทั้งที่ดำเนินการเองและการทำ PPP (Public Private Partnership) ร่วมกับภาคเอกชน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ การพัฒนาสนามบิน รถไฟทางคู่หลายเส้นทาง เป็นต้น โดยเน้น การทำ PPP ที่ให้โอกาสภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงโครงการ สำคัญๆในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อาทิ การรถไฟ การท่าเรือ การนิคม การบินไทย ปตท. กสท. ซึ่งบางโครงการก็มีความคืบหน้า แต่บางโครงการยังล่าช้า ก็อยากให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานด้วย เพื่อให้ EEC มีความพร้อมและสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น
สำหรับการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนโดยเฉพาะด้านขนส่ง การเปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง คือการสร้างความเสมอภาคให้แก่พี่น้องประชาชน ทุกคน ทุกพื้นที่ สร้างโอกาสให้กับชุมชนและ SMEs – Startup ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง
โดยรัฐบาลได้ผลักดันให้เกิดระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินการได้อย่างสะดวกและเร็วยิ่งขึ้น เป็นระบบพื้นฐานสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคม Digital ให้ได้เร็วขึ้น ตามนโยบาย“ไทยแลนด์ 4.0” รวมทั้ง การสร้างระบบการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการวิเคราะห์ข้อมูล (หรือ Data Analytic) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และคิดค้นนวัตกรรม หรือรูปแบบการให้บริการและกระบวนการทำงานใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ของประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ
นายกรัฐมนตรียังย้ำในตอนท้าย ว่า รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐและระบบเศรษฐกิจไทย มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของคนไทย ขอให้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ให้ประเทศไทยมีความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ด้าน นายประภาศ คงเอียด ผอ.สคร. กล่าวว่า สคร. ได้มีการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและนำองค์กรสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งได้รับการตอบรับในการเข้าร่วมงานจากรัฐวิสาหกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีตลอดมา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่มีความโดดเด่นในการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนาองค์กรในมิติต่างๆ ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
สำหรับผลรางวัล SOE Award ประจำปี 2562 ทั้ง 10 ประเภทรางวัล มีดังนี้ 1.รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น ได้แก่ การประปานครหลวง บมจ. ปตท. และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
2.รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (1) ประเภทเกียรติยศ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้รับรางวัลประเภทเกียรติยศติดต่อกันเป็นปีที่ 2 (รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่นติดต่อกันเป็นปีที่ 4), (2) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บมจ.ปตท., ธ.ก.ส., ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
3.รางวัลการพัฒนาองค์กรดีเด่น แยกเป็น 3.1 ภาพรวม ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), 3.2 ด้านการตรวจสอบภายใน ได้แก่ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด, 3.3 ด้านการบริหารจัดการสารสนเทศและดิจิทัล ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย และ 3.4 ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ได้แก่ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย
4.รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น ได้แก่ นายฉัตรชัย ศิริไล กก.ผจก.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
5.รางวัลการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น ได้แก่ บมจ.ปตท., ธนาคารกรุงไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
- รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น แบ่งเป็น (1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บมจ.ปตท. และกฟภ.
และ (2) ประเภทชมเชย ได้แก่ กฟน.
- รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น แบ่งรางวัลเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย
7.1 ด้านความคิดสร้างสรรค์ (1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บมจ.ปตท. และ (2) ประเภทชมเชย ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
7.2 ด้านนวัตกรรม (1) ประเภทดีเด่น ได้แก่ บมจ.ปตท., กฟผ. และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และ (2) ประเภทชมเชย ได้แก่ กปน., กฟภ. และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
8.รางวัลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาดีเด่น แบ่งเป็น 2 ด้าน ประกอบด้วย
8.1 ด้านการยกระดับการบริหารจัดการองค์กร หรือโครงการพี่เลี้ยง
(1) ประเภทดีเด่น จำนวน 2 คู่รัฐวิสาหกิจ คือ คู่ที่ 1 ได้แก่ บมจ.ปตท. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และคู่ที่ 2 ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง และองค์การตลาด
(2) ประเภทชมเชย จำนวน 2 คู่รัฐวิสาหกิจ คือ คู่ที่ 1 ได้แก่ กปน. และองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และคู่ที่ 2 ได้แก่ ธอส. และองค์การสะพานปลา
8.2 ด้านความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ สำหรับรางวัล ปรากฏว่าไม่มีผู้ได้รับรางวัลแต่อย่างใด
- รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล
(1) ประเภทดีเด่น –เป็นอีกรางวัลที่ไม่มีผู้ได้รับรางวัล
(2) ประเภทเชิดชูเกียรติ ได้แก่ บมจ.ปตท., กฟภ. และกฟผ.
และรางวัลสุดท้าย 10. รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี 2562 ได้แก่ กฟภ. และธอส. ก่อนจะปิดการจัดงานในครั้งนี้.