วิบากกรรม “ธาริต” โดนไล่ออกจากราชการ
นับตั้งแต่คสช.เข้ายึดอำนาจ “นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)” เป็นหนึ่งในข้าราชการระดับสูงที่ถูกเด้งมาช่วยราชการสำนักฯ และล่าสุดนายธาริตก็ถูกเซ็นคำสั่งให้ออกราชการแล้ว
จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฐานร่ำรวยผิดปกติเมื่อปี 2559 พร้อมกับได้มีการอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว 900 ล้านบาท จากทรัพย์สินทั้งหมด 346 ล้านบาท
ล่าสุด นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ล่าสุดมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีร่ำรวยผิดปกติของนายธาริตขึ้นอีกครั้ง และอาจพบว่านายธาริตมีพฤติกรรมยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินอีกบางส่วนไปยังบุคคลอื่น โดยมีข้อมูลที่น่าเชื่อได้ว่า นายธาริตได้โยกย้ายทรัพย์สินบางส่วนมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ไปอยู่กับคนใกล้ชิด ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวน ถ้าทรัพย์สินส่วนไหนไม่มีที่มาที่ไปชี้แจงไม่ได้ก็จะถูกอายัด เพื่อตรวจสอบก่อนได้
รายงานจากแหล่งข่าวระดับสูงในป.ป.ช. ว่า ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการไต่สวนและรายงานความเห็นชี้มูลความผิดนายธาริต กรณีร่ำรวยผิดปกติไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ลงโทษไล่นายธาริตออกจากราชการ ตามมาตรา 80 (4) ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ระบุว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่นักการเมือง ประธานศาล และผู้บริหารระดับสูงที่ถูกชี้มูลความผิดร่ำรวยผิดปกติ ให้ประธาน ป.ป.ช.แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา ซึ่งในที่นี้คือนายกฯ สั่งลงโทษ โดยฝ่ายเลขาธิการนายกฯ ได้ตอบกลับมาว่าให้ส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาสำนักนายกฯ แทน เนื่องจากแม้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้บังคับบัญชาทุกส่วนราชการทั้งหมด แต่ผู้บังคับบัญชาสำนักนายกฯ คือผู้บังคับบัญชาโดยตรงของนายธาริต
ด้าน พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายธาริต ชี้แจงว่า “เรื่องดังกล่าวถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้รับเรื่องดังกล่าวจากสำนักงานป.ป.ช.ในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกรณีนี้ โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาตลอด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย และให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวให้ความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาลงโทษตามที่กำหนดในมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดว่าการทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดร้ายแรง ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2560”
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงที่ว่าตามระเบียบข้าราชการ เมื่อมีมติไล่ออกสามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.)ได้หรือไม่ว่า “การไล่ออกมี 2 อย่าง คือ 1.ไล่ออก เพราะมีการดำเนินการทางวินัย ซึ่งสามารถยื่นอุทธรณ์ที่กรรมการผู้พิทักษ์คุณธรรม(ก.พ.ค.)ได้ 2.ลงโทษทางวินัยตามที่ป.ป.ช.แจ้งมา ซึ่งกรณีนี้ไม่สามารถอุทธรณ์ที่ใดได้ ถือว่ายุติที่คำสั่งของป.ป.ช.”