กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ20ปีจ่อเข้าสนช
หลังจากรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนต่อจากนี้ คือ การปฏิรูปประเทศ และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ถูกเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ และหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ รัฐบาลจึงต้องออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังจะพิจารณา
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. กล่าวว่า รัฐบาลได้ส่งร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศและร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มาที่ สนช. แล้ว และได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 20 เมษายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะผ่านวาระแรกในขั้นรับหลักการได้และได้เตรียมตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับเพื่อให้เสร็จทันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือภายใน 120 วัน
สำหรับเนื้อหาของกฎหมายทั้งสองฉบับนั้น ฉบับแรก คือร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่รองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มีการตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ที่มีเวลาตามกรอบเวลาที่กำหนดซึ่งไม่น้อยกว่า 20 ปี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกฯมอบหมาย เป็นรองประธานตามลำดับ ส่วนคณะกรรมการ เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และกรรมการที่มาจากองค์กรวิชาชีพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่ครม.แต่งตั้งขึ้นไม่เกิน 14 คน มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และนอกจากนี้มีการตั้ง “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” อีก 1 คณะ จำนวนไม่เกิน 15 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดขึ้นจากความเห็นที่หลากหลาย
ส่วนขั้นตอนในการเสนอยุทธศาสตร์ชาติ จะมาจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา เสนอต่อครม. แล้วเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำร่างยุทธศาสตร์ชาตินำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติ หากหน่วยงานใดไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติโดยไม่มีเหตุอันควร สภาผู้แทนราษฎรสามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อีกฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ จะมีการตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ในแต่ละด้านจัดทำร่างปฏิรูปประเทศ อย่างน้อย 11 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านสังคม และด้านอื่นๆ ตามที่ครม.กำหนด
สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ มีองค์ประกอบไม่เกิน 14 คน ครม.จะเป็นผู้แต่งตั้ง มีวาระในการดำรงตำแหน่งกรรมการคราวละ 5 ปี เมื่อได้ร่างแผนปฏิรูปแต่ละด้าน จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา และส่งให้ที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องนำไปปฏิบัติ
ด้าน ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. บอกว่า การปฏิรูประบบข้าราชการเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะถูกปฏิรูป ซึ่งถูกเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 มี 3 เรื่องใหญ่ที่ ก.พ.ร.ต้องดำเนินการ 1.ให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ 2.การเชื่อมโยงข้อมูลทางราชการ Government Data 3.ปรับตัวข้าราชการให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น เป็นหัวใจที่ต้องทำในระยะเร่งด่วน แต่เรื่องการนำเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานราชการ เป็นสิ่งที่ ก.พ.ร.เตรียมความพร้อม และได้ดำเนินการก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ จะช่วยให้ประชาชนติดต่อราชการสะดวกขึ้นด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว”
เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวอีกว่า ส่วนของการปรับแนวความคิดและวิธีการทำงานของข้าราชการ ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรหนึ่งของคณะกรรมการปยป. ที่มีการปรับระบบข้าราชการให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ที่จะนำกัฟเวอร์เม้นแล็บ (Government Lab) คือสิ่งที่ใช้ในหลายประเทศ อเมริกา สิงคโปร์ เป็นห้องปฏิบติการ ที่ภาคประชาชนและรัฐจะต้องมาคิดร่วมกันในการแก้ไขปัญหา เมื่อมีปัญหาอะไรก็ให้ข้าราชการส่วนที่เกี่ยวข้องมาเรียนรู้ความสึกของประชาชนว่าถ้าเราเป็นประชาชนดูบ้าง เราจะรู้สึกยังไง แล้วเราก็หาทางแก้ไขปัญหา เป็นการเปลี่ยนมายเซ็ตของข้าราชการให้ยึดประชาชนเป็นศุนย์กลางมากขึ้น ที่นำศาสตร์พระราชามาใช้ เพื่อเข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชน