6 เม.ย.60 ประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญ” ฉบับที่20
“รัฐธรรมนูญ” ฉบับที่ 20 ของประเทศไทย ได้ฤกษ์ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ในวันจักรีซึ่งตรงกับวันที่ 6 เม.ย.
เว็บไชต์ราชกิจนุเษกษา ได้เผยแพร่หมายกำหนดการ พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ความว่า
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในวันที่ 6 เม.ย. ให้เจ้าพนักงานเตรียมพระราชพิธี ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมพระราชวังดุสิต โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เวลา 15.00 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ซึ่งมีพระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี คณะทูต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามตำแหน่งเป็นมหาสมาคม
จากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานอาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประทับพระราชลัญจกรแล้วเชิญไปประดิษฐานบนพานทองที่เสาบัวหน้ามหาสมาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ กองอาลักษณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอ่านกระแสพระราชปรารภประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
ด้าน “ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่ง และทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็พ การออกกฎหมายลูกและการดำเนินงานต่างๆ ยังเป็นไปตามกรอบเวลาเดิม มีขั้นตอนไว้อยู่แล้ว ส่วนจะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ขั้นตอนเหล่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือลดขั้นตอนใดๆ ”
ด้าน “ นายวิษณุ เครืองาม ” รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ชี้แจงว่า “ การจัดพระราชพิธีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก ในสมัยรัชกาลที่ 9 ก็มีพระราชพิธีดังกล่าวเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาในครั้งนี้ที่จัดพระราชพิธีใหญ่เต็มรูปแบบตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น โดยยึดรูปแบบตามปี พ.ศ. 2511 “
“ สำหรับพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ในวันที่ 6 เม.ย.นี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นมหาสมาคม โดยมีการเชิญคณะทูตต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และประธานองค์กรอิสระต่างๆ ส่วนกรณีของรัฐธรรมนูญบางฉบับแม้ไม่ได้จัดเป็นพระราชพิธีแบบครั้งนี้ เป็นเพราะมีเหตุผลบางประการ แต่มีการจัดคล้ายๆ กัน ”
สำหรับขั้นตอนของรัฐบาล รองนายกฯ วิษณุ เรียกปลัดกระทรวงทุกกระทรวง หารือวิธีปฏิบัติ และกระบวนการในการเสนอกฎหมาย ออกกฎหมาย ต่อไปนี้จะต้องมีการดำเนินการหลายอย่างเพิ่มขึ้น รวมถึงความระมัดระวังในการปฏิบัติราชการของแต่ละกระทรวง ทบวง กรมที่จะต้องมีมากขึ้น
โดย “ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ” ปลัดกระทรวงยุติธรรม แถลงภายหลังการประชุมการเตรียมออกกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งที่ 1/2560 ที่มีนายวิษณุเป็นประธานว่า ที่ประชุมได้พูดคุย 2 เรื่องใหญ่ คือ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กฎหมายของแต่ละกระทรวงที่ออกมาจะมีอะไรบ้าง และต้องดำเนินการอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ โดยขณะนี้ทุกกระทรวงมีความชัดเจนเรื่องกฎหมายแล้ว ส่วนอีกเรื่อง คือ การพูดคุยถึง มาตรา77 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเกี่ยวข้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ซึ่งต่อไปนี้การออกกฎหมายจะต้องมีการตรวจสอบลำดับความสำคัญ รวมถึงต้องครอบคลุมหลังประกาศใช้กฎหมายแล้ว.