เตือน โรงงาน 8 กลุ่ม เสี่ยงไฟไหม้หน้าแล้ง
“สุริยะ”เตือนโรงงาน 8 กลุ่มเสี่ยง เพิ่มความเข้มงวด ป้องกันไฟไหมในช่วงหน้าแล้ง พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ กรอ.ให้ความรู้เอสเอ็มอีพัฒนาระบบการป้องกัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แจ้งเตือนโรงงานทั่วประเทศให้ระมัดระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงใน 8 กลุ่ม ประกอบด้วย โรงงานสิ่งทอ เส้นใยจากพืช ฟอกย้อมผ้า, โรงงานแปรรูปไม้และเฟอร์นิเจอร์, โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก โฟม กระดาษ ยาง, โรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี สารอันตราย, โรงงานผลิตสี ทินเนอร์ ก๊าซ วัตถุระเบิด กลั่นสุรา, โรงงานเกี่ยวกับกากหรือขยะอุตสาหกรรม รีไซเคิลของเสีย, โรงงานเกี่ยวกับอาหาร แป้ง มันสำปะหลัง อาหารสัตว์ และโรงงานประเภทอื่นๆ เช่น โกดังเก็บสินค้า งานซ่อม งานโลหะ เป็นต้น
ที่ผ่านมาสาเหตุการเกิดไฟไหม้ในโรงงานมาจากไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ชำรุด และความประมาท จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำชับไปยังผู้ประกอบการโรงงานให้ระมัดระวัง ตรวจสอบ ตรวจตราอุปกรณ์เครื่องจักรให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนกิจกรรมภายในโรงงานที่ทำให้เกิดประกายไฟ เช่น การเชื่อม การตัดเจียร การเผา และการใช้ความร้อน ต้องให้ความระมัดระวังอย่างสูง และมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพราะหากไม่มีความระมัดระวังปัญหาที่ตามมาคือความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนและประชาชนด้วย
ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กรอ. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่วิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านความปลอดภัย และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ระบบไฟฟ้า ความปลอดภัยหม้อน้ำ สารเคมี การบริหารความปลอดภัย การจัดทำแผนฉุกเฉิน นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จับมือกับสถาบันการศึกษาพัฒนาระบบและหลักเกณฑ์การป้องกันอัคคีภัยสำหรับเอสเอ็มอี อีกด้วย
สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานช่วง 9 เดือนของปี 62 (ตั้งแต่ม.ค. – ก.ย.) พบว่า มีโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 55 ครั้ง แบ่งเป็นประเภทอุบัติเหตุ ดังนี้ อัคคีภัย 42 ครั้ง, สารเคมีรั่วไหล 8 ครั้ง, การระเบิด 2 ครั้ง, และอื่น ๆ เช่น เครื่องจักรชำรุด หล่นทับ จำนวน 3 ครั้ง